ปฐม/ทุติยวัฑฒิสูตร ถ้าชีวิตต้องการความเจริญ ต้องมี 5 ข้อนี้ ถ้าชีวิตมีปัญหาแสดงว่า 5 ข้อนี้บกพร่องไป นั่นคือ ศรัทธา, ศีล, สุตะ, จาคะ และปัญญา 

สากัจฉาสูตรและสาชีวสูตร สากัจฉาคือการสนทนากัน สาชีพคือการถามตอบเป็นการเอื้อเฟื้อในการอยู่ร่วมกัน ทั้งสองข้อนี้เป็นสิ่งที่ท่านนั้นมีอยู่ทำได้อยู่แล้วและยังสามารถตอบปัญหาในเรื่องนั้น ๆ ได้ด้วย ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา สามข้อแรกนี้คือส่วนของมรรคนั่นเอง ถัดมาคือวิมุตติ เป็นการพ้น มี 2 นัยยะ นัยยะแรกคือพ้นชั่วคราวจากภาวะในสมาธิ และพ้นแบบไม่กลับกำเริบ นั่นคือนิพพาน สุดท้ายคือวิมุตติญาณทัสสนะ การรู้ได้ด้วยตนเองว่าพ้นแล้วมีสติสัมปชัญญะในการพ้นนั้น 

ปฐมและทุติยอิทธิปาทสูตร อิทธิบาทคือฐานแห่งฤทธิ์ การเจริญอิทธิบาท 4 และการมีความขะมักเขม้น จะทำให้เกิดผลสูงคืออรหัตตผลหรืออย่างน้อยอนาคามีผล และเมื่อครั้งเป็นโพธิสัตว์ก็ด้วยการเจริญ 5 ข้อนี้ ยังผลให้มีฤทธิ์มาก ธรรมที่ทำให้มีฤทธิ์มากนี้คือ ฉันทะ/วิริยะ/จิตตะ/วิมังสา ที่ประกอบด้วยธรรมเครื่องปรุงแต่งที่ผสานด้วยสมาธิ และความขะมักเขม่นคือความพอดีในการปฏิบัติประดุจการประคองหม้อน้ำมันให้พ้นจากเงื้อมดาบของเพชฌฆาต

นิพพิทาสูตรและอาสวักขยสูตร การพิจารณาธรรม 5 ข้อนี้แล้วจะทำให้เกิดความเบื่อหน่ายคลายกำหนัด การที่เรามีความเพลินความยินดีในสิ่งใดแสดงว่าเรามีอุปาทานความยึดถือในสิ่งนั้น ๆ ว่าเป็นตัวเราว่าเป็นของเรา การพิจารณาความไม่งามของกาย ความปฏิกูลในอาหาร ความไม่น่าเพลิดเพลินของโลก ความไม่เที่ยง มรณสัญญา พิจารณาเรื่อย ๆ ความดับของจิตที่จะไปยึดถือจากกิเลสจะเกิดขึ้นได้ ส่วนอาสักขยสูตร การสิ้นอาสวะ คือการปฏิบัติตาม 5 ข้อนี้ ความยึดถือจะก้าวลงไม่ได้ ราคะ โทสะ โมหะ จะไม่มี การปรุงแต่งจะเป็นการปรุงแต่งจากอราคะ อโทสะ และอโมหะ ซึ่งเป็นการปรุงแต่งตามมรรค 8 พอเราปรุงแต่งตามมรรค การแทรกซึมของกิเลสจะเกิดไม่ได้ เจริญทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อการสิ้นอาสวะ ดับกิเลส เพราะกิเลสหรืออนุสัยเป็นตัวอบรมจิต

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต สัญญาวรรค ข้อที่ 63-70