มาในหัวข้อโพชฌงค์ 7 องค์ธรรมแห่งการตรัสรู้ธรรม ทำข้อใดข้อหนึ่งก็ได้ข้อที่เหลือจะตามมา และในแต่ละข้อก็แค่ชั่วลัดมือเดียว เริ่มจากสติสัมโพชฌงค์ซึ่งก็คือ สติปัฏฐาน 4 พอมีสติระลึกไปตามอนุสติ จิตไม่แล่นไปตามสิ่งที่ชอบใจไม่ชอบใจ เห็นตามความเป็นจริง มีการใคร่ครวญด้วยปัญญา คือ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ จิตจะมีความพ้นไม่ขึ้นลงไปตามสิ่งนั้น ๆ ทำให้อกุศลลดกุศลเพิ่ม ก่อให้เกิดการทำจริงแน่วแน่จริง คือ วิริยสัมโพชฌงค์ จากการที่อกุศลลดลงกุศลเพิ่มขึ้น จะเกิดความสบายใจ อิ่มเอิบใจ เรียกว่า ปีติสัมโพชฌงค์ เป็นปิติชนิดนิรามิส พอความวุ่นวายจากสิ่งต่าง ๆ ลดลงจะมีความสงบระงับมากขึ้นทั้งทางกาย และทางจิต คือ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ จิตที่ระงับลง คือ การรวมลง ๆๆ ทำให้จิตมีกำลังก่อให้เกิดสมาธิสัมโพชฌงค์ เมื่อจิตเป็นหนึ่งตั้งมั่นจะก่อให้เกิดอุเบกขาสัมโพชฌงค์ สามารถวางเฉยจากสิ่งที่มากระทบได้ วางเฉยแต่ไม่ใช่ไม่รับรู้ ที่น่าสนใจ คือ เราจะวางเฉยได้ตั้งแต่มีสติหรือไม่ คำตอบ คือ ได้ เพราะธรรมะเป็นก้อนเดียวกันมาด้วยกัน นอกจากนี้ยังแบ่งโพชฌงค์ออกได้เป็น 3 กลุ่ม สำหรับบุคคลที่มีความต่างกัน โดยมีสติเป็นตัวคอยควบคุม คือ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ และปีติสัมโพชฌงค์ไม่เหมาะกับคนที่ฟุ้งซ่าน เปรียบดั่งกองไฟที่ใหญ่อยู่แล้วไม่ควรเติมเชื้อเพิ่ม ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ และอุเบกขาสัมโพชฌงค์ไม่เหมาะกับคนที่เฉื่อย ๆ เหมือนไฟจะมอดอยู่แล้วไม่ควรเติมขี้เถ้าลงไป

 โพชฌงค์ 7 เป็นธรรมะที่ละเอียดมีประโยชน์มากแม้ทำเพียงชั่วลัดมือเดียว

[ผลแห่งจิตชั่วลัดมือเดียว: โพชฌงค์ 7 ข้อที่ 412 – 418]