สืบเนื่องในเดือน อาสาฬหะ ซึ่งมีความสำคัญในการที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา คืือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เอาไว้ จึงจะได้นำเรื่องราวตั้งแต่วันวิสาขะมาจนถึงวันอาสาฬหบูชา เป็นช่วงเวลา 2 เดือนหลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วมาจนถึงการแสดงธรรมแก่ปัญจวัคคีย์ โดยนำเสนอในหัวข้อเรื่อง “ความให้เป็นไป คือ หมุนซึ่งกงล้อแห่งธรรมอันยอดเยี่ยม”…อะนุตตะรัง ธัมมะจักกัง ปะวัตตะนัง 

คัดบางส่วนมาจาก…ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขอริยสัจ คือ ความเกิดก็เป็นทุกข์ ความแก่ก็เป็นทุกข์ ความเจ็บไข้ก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์ ความประจวบด้วยสิ่งที่ไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์โดยย่นย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์

…ข้อนี้แลเป็น ทุกขสมุทัยอริยสัจ คือ ตัณหาอันทำให้เกิดอีก ประกอบด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิน มีปกติเพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆ คือ กามตัณหาภวตัณหา วิภวตัณหา.

…ข้อนี้แลเป็น ทุกขนิโรธอริยสัจคือ ตัณหานั่นแลดับ โดยไม่เหลือด้วยมรรคคือวิราคะ สละ สละคืน ปล่อยไป ไม่พัวพัน.

…ดูข้อนี้แลเป็น ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แหละ…

…ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อใดแล ปัญญาอันรู้เห็นตามเป็นจริงของเรา ในอริยสัจ ๔ นี้ มีรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ อย่างนี้ หมดจดดีแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อนั้น เราจึงยืนยันได้ว่า เป็นผู้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ อันยอดเยี่ยมในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์

…ก็แลเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ ดวงตาเห็นธรรม ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแก่ท่านพระโกณฑัญญะว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวล มีความดับเป็นธรรมดา

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเปล่งพระอุทานว่า ท่านผู้เจริญ โกณฑัญญะ ได้รู้แล้วหนอ ท่านผู้เจริญ โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ เพราะเหตุนั้น คำว่า อัญญาโกณฑัญญะนี้ จึงได้เป็นชื่อ ของท่านพระโกณฑัญญะ ด้วยประการฉะนี้.”

แนะนำรับฟังเพิ่มเติมได้ที่ Playlists: เข้าใจทำ (ธรรม)  Ep.26