ในเอพิโสดนี้ เป็นเนื้อหาที่มาในทุกนิบาตส่วนกลาง (ทุติยปัณณาสก์) ใน สนิมิตตวรรค หมวดว่าด้วยเหตุแห่งบาปอกุศล 10 อย่าง และ ธัมมวรรค หมวดว่าด้วยธรรมที่มี 2 อย่างที่มาด้วยกัน ใน 11 ข้อ

ในวรรคที่ 3 นี้ กล่าวถึงเหตุของความชั่ว ที่ถ้ามีเหตุ 10 อย่างต่อไปนี้ มันก็มีความชั่วเกิดขึ้น แต่ถ้าไม่มีเหตุเหล่านั้น บาปอกุศลธรรมก็ไม่มี จึงเปรียบเทียบส่วนต่างโดยยกเอาเรื่องของอกุศลธรรมและเหตุขึ้นมา ที่มีการเกิดแล้วก็ดับ ได้แก่ ธรรมที่เป็นบาปอกุศล จะต้องมี นิมิต (เครื่องหมายบ่งบอก อาศัยเป็นเหตุ)  / นิทาน (เรื่องที่มาก่อน) / เหตุ (สิ่งที่เกิดก่อน) / สังขาร (การปรุงแต่งชนิดที่เป็นอกุศล เป็นทุจริต) / ปัจจัย (เป็นเงื่อนไขกันมา เป็นสมการตัวแปร) / รูป (ผัสสะ) / เวทนา / สัญญา / วิญญาณ / สังขตธรรม (ธรรมที่มีการปรุงแต่ง คือ กองทุกข์ทั้งหมด) จึงเกิดขึ้น ถ้าไม่มีเหตุ ก็ไม่เกิดขึ้น เพราะละเหตุนั้นเสียได้อย่างนี้ ธรรมที่เป็นบาปอกุศลเหล่านั้นจึงไม่มี

“ถ้าทุกข์อยู่ตรงไหน ความดับทุกข์ความพ้นทุกข์ก็มีอยู่ตรงนั้น ถ้ามีปัญหาอยู่ตรงไหน ทางแก้ปัญหามันก็อยู่ตรงนั้น ถ้าคุณยึดถือตรงไหน จะละความยึดถือได้ ก็ต้องละ ณ ที่ตรงนั้น”  

ในวรรคที่  4 เป็นหมวดที่ว่าด้วยธรรม 2 อย่าง ที่มาด้วยกัน คือ กล่าวถึงอย่างหนึ่ง ก็ต้องกล่าวอีกอย่างหนึ่งขึ้นมาด้วย ใน 11 ข้อนี้ โดยมีทั้งส่วนเหมือนส่วนต่างยกขึ้นมาเปรียบเทียบกัน ได้แก่ เจโตวิมุตติ (ความหลุดพ้นแห่งจิต) | ปัญญาวิมุตติ (ความหลุดพ้นด้วยปัญญา) / ความเพียร | ความไม่ฟุ้งซ่าน / นาม | รูป  / วิชชา (ความรู้แจ้งแทงตลอด) | วิมุตติ (ความหลุดพ้น) / ภวทิฏฐิ (ความเห็นความเข้าใจในความที่มีอยู่ เป็นอยู่ มีสภาวะ มีภพขึ้นมา) | วิภวทิฏฐิ (ความเห็นความเข้าใจในความที่ไม่มีอยู่ ไม่เป็นอยู่ โลกนี้โลกหน้าไม่มี ปฏิเสธหมด) / อหิริ (ความไม่ละอายต่อบาป) | อโนตตัปปะ (ความไม่กลัวต่อบาป) / หิริ (ความละอายต่อบาป) | โอตตัปปะ (ความกลัวต่อบาป) / ความเป็นผู้ว่ายาก (บอกสอนยาก) | ความมีปาปมิตร (มีเพื่อนชั่ว) / ความเป็นผู้ว่าง่าย (บอกสอนง่าย) | ความมีกัลยาณมิตร (มีมิตรดี) / ความเป็นผู้ฉลาดในธาตุ | ในมนสิการ / ความเป็นผู้ฉลาดในอาบัติ | ในการออกจากอาบัติ

“หิริโอตตัปปะ ถ้าไม่มีแล้ว ก็ไม่มีใครที่จะได้อะไรจากใคร…แต่ถ้ามีแล้ว จะมีการสำรวมอินทรีย์ พอมีการสำรวมอินทรีย์ จะทำให้เกิดสติ พอมีสติ ก็จะทำให้เกิดสัมปชัญญะ พอมีสัมปชัญญะก็จะทำให้เกิดสติปัฏฐาน 4 ได้ มีสติปัฏฐาน 4 จะทำให้เกิดโพชฌงค์ 7 ได้ มีโพชฌงค์ 7 จะทำให้เกิดวิชชาวิมุตติได้ จะไล่เรียงกันไปเป็นขั้น ๆ แบบนี้”

*พระไตรปิฎกเล่มที่ 20 พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ 12 [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต

แนะนำรับฟังเพิ่มเติมได้ที่ Playlists: ใต้ร่มโพธิบท S08E36