ยังอยู่ในสุมนวรรคเกี่ยวกับอุบาสกอุบาสิกาเป็นเรื่องของการให้ทานการครองเรือน ในข้อที่ 34 สีหเสนาปติสูตร สีหเสนาบดีทูลถามเรื่องผลแห่งทานที่จะเห็นได้ด้วยตนเอง การไม่เผลอเพลินในกามคุณทั้ง 5 จะทำให้ได้อานิสงส์ 5 อย่างนี้ คือ เป็นที่รัก สัตบุรุษคบหา ชื่อเสียงขจรขจาย ไม่ครั่นคร้าม เมื่อตายย่อมไปสุคติ

ข้อที่ 35 ทานานิสังสสูตร เหมือนในข้อที่ 34 ต่างตรงข้อที่ 4 คือผู้ให้ทานย่อมไม่เหินห่างจากธรรมของคฤหัสถ์ ซึ่งก็คือการไม่ครั่นคร้ามเวลาเข้าหมู่นั่นเอง

ข้อที่ 36 กาลทานสูตร กาลทานคือเฉพาะเวลานั้นเท่านั้นที่จะสามารถทำอย่างนั้นได้ มีจุดเริ่มและจุดจบ ในที่นี้ยังชี้ให้เห็นพรที่นางวิสาขาขอ นางเป็นผู้ฉลาดในการให้ทานที่เป็นทั้งกาลทานและนิจทาน 

ข้อที่ 37 โภชนทานสูตร การให้อาหารคือการให้ทุกอย่าง คือ อายุ วรรณะ พละ สุขะ ปฏิภาณหรือปัญญา เมื่อตายไปจะได้รับอานิสงส์อันเป็นทิพย์นี้ด้วย ทานมากน้อยควรทำ ปริมาณไม่ได้เกี่ยวกับบุญมากบุญน้อย อยู่ที่ศรัทธา ทำตามกำลังทรัพย์แล้วตั้งศรัทธาไว้ให้มาก เราจะได้ฐานะ 5 อย่างนี้

ข้อที่ 38 สัทธสูตร เมื่อศรัทธาแล้วย่อมได้รับอานิสงส์จากสัตบุรุษก่อนใครอื่น คือ อนุเคราะห์ ไปหา ให้การต้อนรับ แสดงธรรม และตายก็ไปสู่สุคติ

ข้อที่ 39 ปุตตสูตร มารดาบิดาที่ปรารถนาบุตรควรสอนบุตรให้ห้ามจากบาปและตั้งอยู่ในความดีแล้วจะได้รับอานิสงส์นี้

ข้อที่ 40 มหาสาลปุตตสูตร เปรียบต้นสาละใหญ่ที่อยู่ในดินดีย่อมมีกิ่งใบ ใบอ่อน เปลือก สะเก็ด กระพี้ แก่น ที่สมบรูณ์ กุลบุตรถ้ามีศรัทธา ศีล สุตตะ จาคะ ปัญญา ก็จะเจริญในธรรมวินัยนี้ 5 ข้อนี้เปรียบเหมือนน้ำหล่อเลี้ยงจิตใจนั่นเอง

จบสุมนวรรค

ปัญจก-ฉักกนิบาต สุมนวรรค ข้อที่ 34-40 

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต