“สมาธิ” คือ เครื่องอยู่ที่จะทำให้เกิด “ความผาสุก” เป็นความสุขอีกประเภทที่เหนือกว่า สุขเวทนา และทุกขเวทนา

ผาสุวิหารสูตร #ข้อ94 ธรรมที่เป็นเครื่องอยู่ให้เกิดความผาสุก คือ สมาธิในขั้นที่ 1-4 (รูปฌาน) เป็นความพ้นจากกิเลสที่อาจจะยังกลับกำเริบได้ อุปไมยเหมือนหินทับหญ้า แต่ถ้าประกอบด้วยเจโตวิมุตติ และปัญญาวิมุตติ คือ ไม่เร่าร้อนไปตามอำนาจกิเลส เป็นความสิ้นไปแห่งอาสวะนั่นเอง

อกุปปสูตร #ข้อ95 ผู้มีธรรมไม่กลับกำเริบ คือ ปฏิสัมภิทา 4 ปัญญาแตกฉานใน อรรถ (เข้าใจความหมายได้หลายนัยยะ) ธรรม นิรุตติ (เข้าใจภาษาได้ลึกซึ้ง) ปฏิภาณ (ไหวพริบถาม-ตอบปัญหา) และการพิจารณาจิตตามที่หลุดพ้นแล้วในแต่ละขั้น ฝึกสังเกตเห็นการเกิด-ดับ เสริมปัญญาให้ถึงธรรมะที่ไม่กลับกำเริบได้

#ข้อ96-98 ธรรม 5 ประการนี้ เมื่อทำอานาปานสติก็จะบรรลุธรรมได้ไม่นานนัก มีไส้ในที่เหมือนกันอยู่ 4 ประการ คือ มีธุระน้อย ไม่เห็นแก่ปากแก่ท้อง นอนน้อย พิจารณาจิตตามที่หลุดพ้นแล้ว ส่วนที่แตกต่างใน สุตธรสูตร #ข้อ96 คือ เป็นพหูสูต ฟังธรรมมาก ส่วนในกถาสูตร #ข้อ97 คือ กถาวัตถุ 10 ทำให้จิตเปิดโล่ง มาคิดในทางที่จะทำให้เกิดการบรรลุธรรม และอารัญญกสูตร #ข้อ98 คือ อยู่ป่าเป็นวัตร เป็นผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาท

สีหสูตร #ข้อ99 การแสดงธรรมของพระพุทธเจ้าที่เปรียบเทียบไว้ว่าเหมือน “ราชสีห์ บรรลือสีหนาท” คือ เป็นผู้หนักในธรรม เมื่อจะแสดงธรรมแก่ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา และปุถุชน ก็จะแสดงโดยเคารพในธรรม

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต กกุธวรรค