“ตื่นท่ามกลางผู้หลับ หลับท่ามกลางผู้ตื่น” หากเปรียบเทียบกับ ปุถุชนที่เต็มไปด้วยกิเลส หลับไปเพราะความประมาท เราถือว่าเป็นผู้ตื่น หากเปรียบเทียบกับพระอรหันต์ที่หมดกิเลสราคะแล้ว เรายังถือว่าเป็นผู้หลับอยู่

สติระลึกถึง “พุทโธ” สติอยู่กับพุทโธ สติก็มาเนื่องกับจิต จิตก็ได้รับการรักษาด้วยสติ เมื่อมีผัสสะเกิดขึ้น สติที่รักษาจิตดีแล้วจะรับรู้ผัสสะ แต่ไม่ไปเกี่ยวเนื่องในผัสสะนั้นๆ คือ จิตสามารถแยกแยะ และแยกตัวจากอารมณ์ หรือสิ่งที่มากระทบได้ นั่นคือ “จิตที่สำรวม ระวัง” ได้ชื่อว่าเป็น “จิตที่ตื่นอยู่ ไม่ประมาท” ผู้มีสติ คือ “ตื่นแล้ว”

หลับอย่างมีสติ ก่อนนอนให้ตั้งสติ ขอบาปอกุศลอย่าตามเราไปในขณะนอน เราจะไม่ฝัน พอไม่ฝัน ราคะ โทสะ โมหะก็ตามเราไปไม่ได้ และหากรู้ตัวให้ตื่นขึ้นทันที หรือเตรียมตื่นในขณะที่นอนหลับ อย่างนี้เรียกว่า มีสติสัมปชัญญะในการนอน

ตื่นและหลับอยู่ ให้มี “สติ” ตลอดเวลา เมื่อจิตพัฒนาขึ้นๆ จะเกิด “ปัญญา” เห็นความไม่เที่ยงของจิตว่าเดี๋ยวสงบ เดี๋ยวฟุ้งซ่าน ไม่ควรที่เราจะยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเรา ปล่อยวาง ให้ “สติและจิต” อยู่ด้วยกันตลอด อยู่ในช่องทางใจที่มีการจัดระเบียบดีแล้ว ปัญญาก็จะเกิดขึ้น เห็นตามความเป็นจริง เราจึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ตื่นอยู่ ไปตามทางที่มีองค์ประกอบแปดอย่าง จะทำให้รู้ถึงความตื่นอยู่เป็นขั้นๆ มีการพัฒนาการ รู้เห็นธรรมได้นั่นเอง