ขุดเพชรจากพระไตรปิฎก อุบาสกตปุสสะและภัลลิกะ (พระไตรปิฎกเล่มที่ 20 พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ 12: อังคุตตรนิกาย เอกกนิบาต เอตทัคควรรค ข้อที่ 248)
ประวัติความเป็นมาและบุพกรรมในชาติก่อน การบรรลุธรรม และความเป็นเอตทัคคะ 

ชายใดมีจิตใจเคารพและกล่าวถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์เป็นที่พึ่งที่เคารพสักการะ ชายนั้นชื่อว่า “อุบาสก” หรือแม้ถึงรัตนะ 2 คือ พระพุทธและพระธรรมเเป็นสรณะอย่างพ่อค้าสองพี่น้องชื่อตปุสสะและภัลลิกะ ก็เรียกว่า “อุบาสกบุคคล”

“ส่วนบุคคลใดถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่ง ย่อมเห็นอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์  ความก้าวล่วงทุกข์ และมรรคมีองค์แปดอันประเสริฐ  ซึ่งทำให้สัตว์ถึงความสงบทุกข์ด้วยปัญญาอันชอบ สรณะนั่นแลเกษม สรณะนั่นแลอุดม บุคคลอาศัยสรณะนั้นแล้วย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้”…(ขุ.ธ.ข้อ๒๔)

อุบาสก แปลว่า ผู้นั่งใกล้พระรัตนตรัย, สรณะ หมายถึง พระรัตนตรัย 

วิธีการเข้าถึงสรณะหรือพระรัตนตรัยมี 6 ประการ คือ วิธีสมาทาน, วิธียอมเป็นศิษย์, วิธีทำพระรัตนตรัยไว้เป็นเบื้องหน้า, วิธีมอบตน, วิธีถึงโดยกิจ และวิธีกราบไหว้

อานิสงส์ของการเข้าถึงสรณะ  กรณีถึงสรณะที่เป็นโลกุตระของพระอริยเจ้าผู้บรรลุสามัญผลสี่ย่อมมีผลเป็นความสิ้นไปแห่งทุกข์ทั้งมวล ส่วนการเข้าถึงสรณะที่เป็นโลกียะย่อมมีภพสมบัติเป็นผล คือ เกิดในสุคติ

ธรรมะที่พระพุทธองค์แสดงแก่อุบาสก แล้วสามารถประพฤติปฏิบัติตามจนบรรลุเป็นพระอริยบุคคลในระดับต่าง ๆ นั้น โดยส่วนมากมักแสดงในเรื่อง “อนุปุพพิกถา 5” (เรื่องที่กล่าวถึงตามลำดับ) คือ ทาน ศีล สวรรค์ โทษของกาม และอานิสงส์การออกจากกาม จากนั้นเมื่อมีจิตใจที่อ่อนนุ่มอ่อนเหมาะแล้วจึงแสดงอริยสัจสี่ต่อ

ตปุสสะ-ภัลลิกะ อุบาสกคู่แรกในพระพุทธศาสนา เอตทัคคะในฝ่ายผู้ถึงสรณะก่อน

พ่อค้าสองพี่น้องชื่อ “ตปุสสะและภัลลิกะ” ได้ถวายสัตตุผง สัตตุก้อน และน้ำแด่พระพุทธเจ้า ภายหลังการตรัสรู้ ในระหว่างที่พระองค์ทรงเสวยวิมุตติสุขในสัปดาห์ที่ 8 ณ ราชายตนะ และเมื่อได้ฟังธรรม “อนุปุพพิกถา 5” จากพระพุทธเจ้าแล้ว ทั้งสองเกิดความเสื่อมใสศรัทธา ประกาศตนเป็นอุบาสกคู่แรกผู้ขอการถึงพระพุทธเจ้าและพระธรรมเป็นสรณะ (ในขณะนั้นพระสงฆ์ยังไม่เกิดขึ้น) นอกจากนี้พระพุทธเจ้ายังได้ประทานพระเกสาธาตุจำนวน 8 เส้นให้แก่พวกเขาเพื่อเป็นที่ระลึกถึง และในกาลต่อมาเมื่อทรงสถาปนาอุบาสกทั้งหลายไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะต่างๆ ตามลำดับ จึงทรงสถาปนาทั้งสองนี้ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะผู้เลิศกว่าอุบาสกทั้งหลายในฝ่ายผู้ถึงสรณะก่อน