ลักษณะความแตกต่าง 8 อย่างระหว่าง ผู้มีลักษณะแห่งความเกียจคร้าน (กุสีตวัตถุ) และผู้มีลักษณะแห่งการทำจริง แน่วแน่จริง (อารัพภวัตถุ)
เหตุการณ์เดียวกัน เปรียบเหมือนเหรียญเดียวกัน แต่คนละด้าน สถานการณ์เดียวกัน แต่มองคนละมุม คนหนึ่งมองติดอยู่อยู่แค่เรื่องอาหาร เรื่องการเดินทาง เรื่องการงาน เรื่องโรคภัยไข้เจ็บ..แต่อีกคนหนึ่งเห็นโอกาสแห่งการที่จะตั้งไว้ซึ่งความเพียรได้…เหตุการณ์อย่างเดียวกัน คุณใช้เป็นข้ออ้างในการที่จะกระทำชั่วก็ได้ เหตุการณ์อย่างเดียวกัน คุณใช้เป็นที่ตั้งที่จะทำความดีก็ได้
ในขันธ์ 5 มีทั้งส่วนที่เป็นมิจฉามรรคที่เป็นไปในทางต่ำ ทั้งความขี้เกียจ และส่วนที่เป็นอริยมรรค ที่จะไปทางสูง เป็นที่ตั้งในการที่จะทำความเพียรได้ โดยในพระสูตรนี้ยกเอา 4 คู่นี้ขึ้นมาพูดอธิบายให้เห็น…สามารถขยายความมาในขันธ์ 5 ได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสุขเวทนา หรือทุกขเวทนา ไม่ว่าจะเป็นสัญญาความคิดนึกที่มันเป็นกุศลหรืออกุศลโผล่ขึ้นมาได้…เราจึงต้องไม่ตามความคิดที่ไม่ดี แต่ให้เราเอาตรงนี้มาเป็นที่ตั้งในการปรารภความเพียร ยิ่งทำสติให้มันมีมากขึ้น ไม่ตามสิ่งที่ไม่ดีนั้นไป สัญญาด้วย สังขารด้วย วิญญาณด้วย ตั้งไว้ให้มันดี ให้มันถูก ให้มันชอบ สามารถที่จะไม่ไปตามมิจฉามรรค
เมื่อเราฟังเรื่องราวที่เป็นองค์ประกอบตรงนี้ ให้คิดไตร่ตรองใคร่ครวญว่า เราเป็นแบบไหนกัน? เหตุการณ์นี้เราจะใช้เป็นฐานที่ตั้งสำหรับในการทำอะไร?