“…ซึมเศร้าเริ่มมาจากความเสียใจ คนเราถ้ายังมีราคะโทสะโมหะ ยังมีรากของอวิชชาอยู่ มันมีความทุกข์แน่…ต้องมีการทำในใจโดยแยบคาย เห็นในความเป็นของไม่เที่ยงจะละราคะโทสะโมหะไปได้ พอเห็นความไม่เที่ยงก็จะหลุดออกจากอารมณ์นั้นได้”

Q: ปฏิบัติธรรมแล้วมีภาวะซึมเศร้าเป็นไปได้หรือ ในสมัยพุทธกาลมีหรือไม่ ควรปรับอย่างไร ถ้ารู้แล้วไม่ช่วยจะบาปมั้ย

A: ภาวะซึมเศร้าเกิดจากความเสียใจความไม่เข้าใจความไม่แยบคาย ในสมัยพุทธกาลมีอยู่ เช่น ท่านพระวักกลิ ท่านโพธิกะ หรือภิกษุที่พิจารณาอสุภะไม่ถูกวิธี การศึกษาธรรมก็เหมือนการจับงูพิษ ต้องรู้วิธีจับ ในกรณีนี้ต้องมีการทำในใจโดยแยบคาย พิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวตน ทุกสิ่งมีเหตุมีปัจจัยจึงเกิดขึ้น ก็จะวางได้ มาปฏิบัติแล้วซึมเศร้าก็อาจเป็นได้ดั่งกรณีของภิกษุที่ยกมา หรือเขาอาจเป็นมาอยู่ก่อนแล้วแล้วไม่มีโยนิโสมนสิการ โยนิโสมนสิการจะมีได้ก็ด้วยกัลยาณมิตร จิตนี้ฝึกได้ด้วยความเพียรด้วยมรรค 8 ถ้าสามารถช่วยได้ก็จะเป็นกัลยาณมิตรที่มีอุปการะ แต่ถ้าไม่สามารถก็ต้องวางอุเบกขา สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

Q: คนที่ฉุนเฉียวง่ายมักเป็นคนที่เคยปฏิบัติธรรม ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

A: อาจจะเคยมีมาก่อนแล้ว หรือก่อนหน้านี้ไม่เคยเป็นแต่มาเป็น นั่นเป็นเพราะไปยึดถือพอใจในความสงบที่ได้รับตอนปฏิบัติธรรม เมื่อไม่ได้จึงไม่พอใจ ทางแก้ คือ เห็นความเป็นของไม่เที่ยง จะคลายความยึดถือได้

Q: เพราะต้องทำงานแข่งกับเวลาต้องรับผิดชอบสูง ทำให้เครียด ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ดี เกิดซึมเศร้า ควรทำอย่างไร

A: ถ้าความเพียรมากเกินกำลังของสติ ตัณหาหรือความอยากจะออกมาในรูปแบบของความฟุ้งซ่านความเครียด ไม่ต้องลดความเพียรลงแต่ให้เพิ่มสติให้มากขึ้น ค่อย ๆ บ่มอินทรีย์