ฉันโนวาทสูตร ปรารภท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาจุนทะ ได้ให้โอวาทแก่พระฉันนะ ที่กำลังนอนเจ็บป่วยจนไม่สามารถอดทนต่อเวทนานั้นได้ เลยฆ่าตัวตาย ซึ่งท่านพระฉันนะก็ได้บรรลุพระอรหันต์ไม่ก่อนและหลังความตาย โดยท่านได้พิจารณาเห็นความดับไปในอายตนะทั้ง 6 เมื่อเห็นตามความเป็นจริงในความเป็นของไม่เที่ยงแล้ว ความกำหนัดจะคลายลงไป กายใจก็ไม่เร่าร้อนไปตามสิ่งนั้น

ได้ยก สฬายตนวิภังคสูตร ว่าด้วยการแจกแจงอายตนะ 6 ขึ้นมาประกอบเพิ่มเติม เพื่อขยายความเข้าใจให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

ฉันโนวาทสูตร

[๗๕๑] เมื่อท่านพระฉันนะกล่าวแล้วอย่างนี้ ท่านพระมหาจุนทะได้กล่าว กะท่านพระฉันนะดังนี้ว่า ดูกรท่านฉันนะ เพราะฉะนั้นแล ท่านควรใส่ใจคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคนั้นไว้ตลอดกาลเนืองนิตย์แม้ดังนี้ว่า “บุคคลผู้อันตัณหาและทิฐิ อาศัยอยู่แล้ว ย่อมมีความหวั่นไหว สำหรับผู้ไม่มีตัณหาและทิฐิอาศัย ย่อมไม่มี ความหวั่นไหว เมื่อไม่มีความหวั่นไหว ก็มีความสงบ เมื่อมีความสงบ ก็ไม่มี ตัณหาตัวน้อมไปสู่ภพ เมื่อไม่มีตัณหาตัวน้อมไปสู่ภพ ก็ไม่มีการมาเกิด ไปเกิด เมื่อไม่มีการมาเกิดไปเกิด ก็ไม่มีจุติและอุปบัติ เมื่อไม่มีจุติและอุปบัติ ก็ไม่มี โลกนี้ ไม่มีโลกหน้า ไม่มีระหว่างกลางทั้งสองโลก นี่แหละที่สุดแห่งทุกข์” ครั้น ท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาจุนทะ กล่าวสอนท่านพระฉันนะด้วยโอวาท นี้แล้ว จึงลุกจากอาสนะ หลีกไป ฯ

ความเจ็บป่วยเป็นเทวทูต ทำให้เรามีสติขึ้นได้ อาการเจ็บป่วยมีอยู่เป็นธรรมดา แต่พอตั้งสติขึ้นแล้วเราอดทนได้ บางทีเราเผลอบ้าง มีความหงุดหงิดเกิดขึ้น ให้รีบละความหงุดหงิดละอกุศลธรรมนั้นเสีย แล้วตั้งสติเอาไว้ มันจะอดทนได้ ใจเราจะสบาย สติก็จะมีกำลัง

คนเราไม่เจอความทุกข์จะทำศรัทธาให้เกิดขึ้นไม่ได้ ไม่มีศรัทธาการทำจริงจะเกิดได้อย่างไร เมื่อเราเจอความทุกข์อยู่เฉพาะหน้า ให้มีความมั่นใจในทางคำสอนของพระพุทธเจ้า เราจะทำจริงแน่วแน่จริงแก้ปัญหานั้นได้ ให้ตั้งสติขึ้น

สฬายตนวิภังคสูตร

[๖๑๘] พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า พวกเธอพึงทราบอายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ หมวดวิญญาณ ๖ หมวดผัสสะ ๖ ความนึกหน่วงของใจ ๑๘ ทางดำเนินของสัตว์ ๓๖ ใน ๓๖ นั้น พวกเธอจงอาศัยทาง ดำเนินของสัตว์นี้ ละทางดำเนินของสัตว์นี้ และพึงทราบการตั้งสติ ๓ ประการ ที่พระอริยะเสพ ซึ่งเมื่อเสพชื่อว่า เป็นศาสดาควรเพื่อสั่งสอนหมู่ อันเราเรียกว่า สารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ยอดเยี่ยมกว่าอาจารย์ผู้ฝึกทั้งหลาย นี้เป็นอุเทศแห่งสฬายตนวิภังค์ ฯ