จิตของเราเปรียบเหมือนดวงไฟ โดยมีขันธ์ 5 และตัณหาเป็นเชื้อเพลิง ตัณหาไม่ได้จะไปยึดถือในอะไรอีก นอกจากในขันธ์ 5 เท่านั้น…ตัณหาเพราะมี จึงมีอุปาทานคือความยึดถือ ที่มันก้าวลงไปในขันธ์ 5 มันจึงเป็นภพ จึงเป็นชาติขึ้นมา ถ้าเมื่อไหร่ เราละความยึดถือคืออุปาทาน ด้วยปัญญาแล้ว ขันธ์ 5 ก็เป็นของมันอย่างนั้น แล้วดวงไฟก็ไม่มี จิตก็ดับไป

เรารู้สึกว่า จิตนี้มันมีอยู่ตลอดเวลา นี่เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เป็นภาพลวงตา การที่เข้าใจว่า จิตเป็นตัวตน เป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นอนัตตา เพราะมันขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยอย่างอื่น สิ่งใดสิ่งหนึ่งต้องอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น จะเกิดได้ก็ต้องมีเหตุ จะดับได้เหตุก็ต้องดับ ลักษณะนี้เขาเรียกว่า ความเป็นอนัตตา

ที่เราไปคิดนึกว่า เป็นของเรา เพราะบางทีที่มันขยับได้ตามที่เราคิด..เราจึงไปมีความยึดถือคืออุปาทาน นั่นจึงเป็นปัญหา

แล้วถามว่าจะทำยังไง?…ต้องตัดตรงอุปาทาน พิจารณาเห็นความไม่เที่ยงในขันธ์ 5  มันจะมีความหน่าย คลายกำหนัด ละ วาง ความยึดถือหรืออุปาทานได้ จิตจะดับไป เหมือนเปลวไฟที่หมดเชื้อดับไป ความร้อนไม่มี มันจะเย็น ความดับนั้นคือนิโรธ ความเย็นนั้นคือนิพพาน เราก็จะหลุดพ้น