“ผู้ประทุษร้ายในท่านผู้ไม่ประทุษร้าย หาอาชญามิได้ ด้วยอาชญา ย่อมพลันถึงฐานะ 10 อย่างใดอย่างหนึ่งทีเดียว คือ พึงถึงเวทนาอันหยาบ, ความเสื่อม, ความแตกแห่งสรีระ, ความเจ็บไข้อย่างหนัก, ความฟุ้งซ่านแห่งจิต, ความขัดข้องแต่พระราชา, ความกล่าวตู่อย่างทารุณ, ความเสื่อมรอบแห่งหมู่ญาติ, ความย่อยยับแห่งโภคะ, อีกประการหนึ่ง ไฟป่าย่อมไหม้เรือนของผู้นั้น, เพราะความแตกแห่งกาย เขาผู้มีปัญญาทราม ย่อมเข้าถึงนรก.”…เรื่องพระนางสามาวดี (ทำร้ายผู้ไม่ทำร้ายตอบย่อมถึงฐานะ 10)

สืบเนื่องจากจะได้นำเรื่อง “พระนางสามาวดี” มาให้ได้ฟัง เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจมาก แต่ด้วยความที่มีเนื้อหาค่อนข้างยาว ยังต่อไปอีกในหลายตอน จึงได้นำเรื่องของ “โฆสกเศรษฐี” ผู้เป็นบิดาของพระนางสามาวดี ยกขึ้นมาให้ได้ฟังก่อนเป็นตอนแรก ซึ่งเป็นเรื่องราวของชะตาชีวิตที่ผลิกผันเพราะกรรมที่ตนได้สร้างไว้ในอดีตชาติ ตั้งแต่เกิดเป็น โกตุหลิกะผู้ทิ้งลูก, ด้วยมีจิตอกุศลก่อนตายได้อิจฉาความเป็นอยู่ของสุนัข จึงไปเกิดเป็นสุนัข, จากสุนัขได้ไปเกิดเป็นโฆสกเทพบุตร, เสวยสมบัติอยู่ในเทวโลกไม่นาน ด้วยมัวเพลิดเพลินบริโภคกามคุณ หมดบุญจึงได้จุติไปเกิดเป็นบุตรหญิงงามเมืองในกรุงโกสัมพี, ถูกรับเลี้ยงโดยเศรษฐีผู้คอยที่จะฆ่าทำร้ายตน, ได้แต่งงานกับธิดาเศรษฐีที่เมื่อครั้งอดีชาติคือนางกาลีผู้เป็นภรรยาของนายโกตุหลิกะ จนกระทั่งไปถึงเหตุการณ์ได้รับตำแหน่งเศรษฐี และเมื่อได้ทราบความที่ตนถูกทิ้งถูกฆ่าถึง 7 ครั้ง เพราะผลของกรรมเก่าที่เคยกระทำไว้ จึงเกิดความสังเวช ไม่ประมาท ได้ตั้งโรงทานขึ้นเพื่อคนกำพร้าและเพื่อคนเดินทางไกล จึงเป็นเหตุให้ได้รับพระนางสามาวดีมาเป็นบุตรบุญธรรมของตน

และในตอนหน้าจะได้ยกเอาเรื่อง “ความเป็นมาของพระนางสามาวดี” และ “พระเจ้าอุเทน” ขึ้นมาให้ได้ฟังกัน