เมื่อใดที่กล่าวถึงคำว่า “พหูสูต” จะต้องมีกลุ่มคำเหล่านี้ต่อพ่วง เกี่ยวพันมาด้วยกัน (Associate) ซึ่งที่เราได้ยินเป็นประจำ ก็คือ เป็นผู้สดับฟังมามาก, ทรงจำไว้ได้, ท่องได้คล่องปาก, ขึ้นใจ และแทงตลอดด้วยดีด้วยความเห็น (ทิฏฐิ) ซึ่งธรรมอันงดงามในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด เป็นการประกาศพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ

ด้วยคุณสมบัติ 5 อย่างนี้ ที่เมื่อมาประกอบกันแล้ว จะทำให้ความเป็นพหูสูตเกิดขึ้น ซึ่งทุกคนสามารถทำได้ จะมากหรือน้อยไม่เท่ากัน อันนี้เป็นธรรมดา แต่อย่างน้อยที่สุดต้องมี “การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม”  คือ การที่เรานำเอามาปฏิบัติ แล้วทำให้ถึงที่สุด ทำให้เกิดขึ้นในใจ จิตใจที่มีสัมมาทิฏฐิ มีกิเลสลดลง ถือว่าเราเป็นพหูสูตแล้ว เป็นในระดับที่จะทำให้ความดีนั้นสืบต่อไปได้ ให้ความดีนั้นไม่มาสุดจบลงที่ตัวเรา จึงเรียกได้ว่าเป็น พหูสูตผู้ทรงธรรม

[231] พหูสูตมีองค์ 5 (คุณสมบัติที่ทำให้ควรได้รับชื่อว่าเป็นพหูสูต คือ ผู้ได้เรียนรู้มาก หรือคงแก่เรียน)
พหุสสุตา ฟังมาก คือ ได้เล่าเรียนสดับฟังไว้มาก
ธตา จำได้ คือ จับหลักหรือสาระได้ ทรงจำความไว้แม่นยำ
วจสา ปริจิตา คล่องปาก คือ ท่องบ่นหรือใช้พูดอยู่เสมอจนแคล่วคล่อง จัดเจน
มนสานุเปกขิตา เพ่งขึ้นใจ คือ ใส่ใจนึกคิดพิจารณาจนเจนใจ นึกถึงครั้งใด ก็ปรากฏเนื้อความสว่างชัด
ทิฏฐิยา สุปฏิวิทธา ขบได้ด้วยทฤษฎี หรือ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ คือ ความเข้าใจลึกซึ้ง มองเห็นประจักษ์แจ้งด้วยปัญญา ทั้งในแง่ความหมายและเหตุผล

องฺ.ปญฺจก. 22/87/129

แนะนำรับฟังเพิ่มเติมได้ที่ Playlists: ใต้ร่มโพธิบท S07E18 , ตามใจท่าน S10E02