อาการแห่งอนิจจังโดยละเอียด
สองอย่างที่ไม่เที่ยงรวมกันแล้วเกิดสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมา จะให้มันเที่ยงไม่ได้
เราไม่ต้องรอตอนที่มันหายไปดับไปจึงค่อยบอกว่ามันไม่เที่ยง แม้แต่ตอนที่มันมีอยู่ ตั้งอยู่ ดำรงอยู่ ให้เราเห็นกันอยู่ชัด ๆ ถ้ามันอาศัยเหตุปัจจัยอื่น แล้วมันยังคงอยู่ ดำรงอยู่ได้ นั่นก็คือ มันไม่เที่ยงอยู่แล้ว
เมื่อ “ผัสสะ” ไม่เที่ยงแล้ว เวทนา สัญญา ความนึกคิดมันจะเที่ยงหรือไม่…ก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน
สิ่งใดที่ไม่เที่ยง มีความแปรปวนเป็นธรรมดา มีความเป็นอาพาธ มันไม่ได้จะดำรงอยู่ได้ ถ้าเหตุปัจจัยของมันเปลี่ยนแปลงไป ความที่มันไม่อาจจะทนอยู่ในสภาพเดิมของมันได้เมื่อเหตุปัจจัยของมันเปลี่ยนแปลงไป ความทนอยู่ได้ยากนั้น เราเรียกว่า “มันเป็นทุกข์” เพราะฉะนั้นสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มีความไม่เที่ยงต้องมีความเป็นทุกข์ แน่นอน
อย่าโง่ ต้องฉลาด อย่าประมาท แต่ให้มีสติ ว่าสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ ไม่มีสาระ เราอย่าแบกมันเอาไว้…รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ, รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพ ธรรมารมณ์, ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ไม่ใช่สิ่งที่เราจะแบกเอาไว้ เราต้องวาง ต้องไม่เอา โทษของมันคลายออก จะเป็นประโยชน์แก่เรา
อย่าให้มีความลำเอียง เพราะถ้าลำเอียงแล้วมันจะไม่เห็น อย่าให้มีความเป็นอคติ เพราะถ้ามีอคติแล้วมันจะไม่รู้…แต่เราจะเห็น เราจะรู้ มีปัญญาเกิดขึ้นได้ ต้องด้วยการตั้งสติขึ้นให้ดี ต้องด้วยการที่ใคร่ครวญด้วยปัญญาอันแยบคายโดยธรรม”