“…รูปอุปมาด้วยกลุ่มฟองน้ำ เวทนาอุปมาด้วยต่อมน้ำ สัญญาอุปมาด้วยพยับแดด สังขารอุปมาด้วยต้นกล้วย และวิญญาณอุปมาด้วยกล. ภิกษุย่อมเพ่งพิจารณาเห็นเบญจขันธ์นั้นโดยแยบคายด้วยประการใดๆ เบญจขันธ์นั้น ย่อมปรากฏเป็นของว่าง เป็นของเปล่าด้วยประการนั้น ๆ

ก็การละธรรม 3 อย่าง อันพระพุทธเจ้า ผู้มีปัญญาดังแผ่นดิน ปรารภกายนี้ทรงแสดงแล้ว ท่านทั้งหลายจงดูรูปอันบุคคลทิ้งแล้ว. อายุ ไออุ่น และวิญญาณย่อมละกายนี้เมื่อใด เมื่อนั้น กายนี้อันเขาทอดทิ้งแล้ว ย่อมเป็นเหยื่อแห่งสัตว์อื่น หาเจตนามิได้ นอนทับถมแผ่นดิน.

นี้เป็นความสืบต่อเช่นนี้ นี้เป็นกลสำหรับหลอกลวงคนโง่ เบญจขันธ์เพียงดังว่าเพชฌฆาตผู้หนึ่ง เราบอกแล้ว สาระย่อมไม่มีในเบญจขันธ์นี้. ภิกษุผู้มีความเพียรอันปรารภแล้วมีสัมปชัญญะ มีสติพึงพิจารณาขันธ์ทั้งหลายอย่างนี้ ทั้งกลางวัน ทั้งกลางคืน. ภิกษุเมื่อปรารถนาบทอันไม่จุติ (นิพพาน) พึงละสังโยชน์ทั้งปวง พึงกระทำที่พึ่งแก่ตน พึงประพฤติ ดุจบุคคลผู้มีศีรษะอันไฟไหม้ ดังนี้.” …เผณปิณฑสูตร

ประเด็นสำคัญคือ เราต้องรู้ว่าจะหลีกออกคลายกำหนัดในขันธ์ทั้ง 5 นี้ได้อย่างไร? …ให้พิจารณาใคร่ครวญในเหตุเกิดของ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ อาศัยอะไรเกิดขึ้น ให้รู้ได้ด้วยถึงความเสื่อมของมัน เพราะว่าถ้าเหตุมันเปลี่ยนแปลงหายไปดับไป รูปนั้นก็หายไปดับไป เวทนาด้วย สัญญาด้วย สังขารด้วย และวิญญาณด้วย โดยอุปมาเปรียบในแต่ละอย่างไว้ด้วยกับ ฟองน้ำ, ต่อมน้ำ, พยับแดด, แก่นในต้นกล้วย และมายากล ซึ่งเป็นสิ่งที่หาสาระแก่นสารไม่ได้

พิจารณาขันธ์ 5 มาในกายของเราด้วยสมาธิที่เกิดจากการระลึกรู้ถึงลมหายใจ ให้พิจารณาเห็นตามความเป็นจริง โดยความเป็นของไม่เที่ยง, โดยความเป็นทุกข์, เป็นโรค, เป็นหัวฝี, เป็นลูกศร, เป็นความยากลำบาก, เป็นอาพาธ, เป็นดั่งของผู้อื่นให้ยืมมา, เป็นดั่งของแตกสลาย, เป็นของว่าง และเป็นของไม่ใช่ตน ให้พิจารณาเห็นโดยอนัตตลักษณะ  11 ประการนี้

พระสมณโคดมท่านได้ขึ้นชื่อว่าเป็นสัมมาสัมพุทธะก็เพราะ “เห็นขันธ์ 5 ตามความที่มันเป็น มีเหตุเกิดเป็นมาอย่างนี้ ตัวมันเป็นอย่างนี้ ความดับไม่เหลือของมันเป็นอย่างนี้ และทางให้ถึงความดับไม่เหลือของมันเป็นอย่างนี้ ๆ เห็นอริยสัจทั้ง 4 ในขันธ์ทั้ง 5 ด้วยอาการอย่างนี้”

แนะนำรับฟังเพิ่มเติมได้ที่ Playlists: ใต้ร่มโพธิบท Ep.56