ฝึกปฏิบัติให้สติของเรากำหนดไว้อยู่ในกาย คือ กายคตาสติ พิจารณา “ทุกขสัญญา” คือการกำหนดหมายโดยความเป็นทุกข์ของสิ่งต่างๆ มองด้วยปัญญาจากสัมมาสติ สัมมาสมาธิ ให้เห็น “ขันธ์ทั้งห้า” เป็นของทุกข์ ไม่เที่ยง เป็นอนิจจัง ทนอยู่ในสภาพเดิมได้ยาก เปลี่ยนแปลงตามเหตุปัจจัย แต่จิตของเราหลอกอยู่ให้เห็นว่า ขันธ์ทั้งห้าเป็น “สุขสัญญา” สุขจากการกินอิ่ม นอนหลับ เดินได้จนมีความเพลิน พอใจ ปรุงแต่ง รับรู้ เกิดอุปาทาน ยึดถือว่า ขันธ์ทั้งห้าเป็นของเรา เกิดตัณหาว่าต้องการให้มันเที่ยง นิจจัง แต่มันไม่เป็นอย่างนั้น ความทุกข์จึงเกิด

ขันธ์ทั้งห้าไม่ใช่ของสุข ที่แท้มันเป็นของทุกข์ เราต้องไม่เพลิน พอใจ หลงยึดถือ มันไม่ใช่ของที่จะเป็นสาระแก่นสาร จะมาหาความเมา ความสุขในสิ่งที่เป็นของหนัก ในสิ่งที่เป็นของทุกข์ มันไม่ได้

เราต้องวาง “ของหนัก” คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ ไม่ไปยึดถือทั้งสุขเวทนา และทุกขเวทนา สุขที่เหนือกว่าสุขเวทนา คือ สุขแบบเย็นๆ คือ นิพพาน มันชุ่มเย็นอยู่ในใจ ทำตรงนี้ให้ได้บ่อยๆ พิจารณาให้เห็นความยึดถืออยู่บ่อยๆ ใคร่ครวญ “ทุกขสัญญา” ตลอด เราจะเกิดความเข้าใจ เห็นความจริงว่า สิ่งที่มีสาระเป็นประโยชน์ คือ “อริยมรรคมีองค์แปด” คือ ปัญญา สมาธิ สติ ของเราเป็นสาระประโยชน์ เอามาปฏิบัติจะเป็นสิ่งที่พึ่งให้เกิดปัญญาอยู่ได้ตลอดทั้งวัน