สืบเนื่องจากในช่วงเข้าใจทำ (ธรรม) และ ใต้ร่มโพธิบทของสัปดาห์นี้ได้กล่าวถึงเนื้อหาในรายละเอียดของเรื่องอริยสัจ 4 และ อาหาร 4 ไว้  จึงยก 2 พระสูตรหลักที่เกี่ยวข้องขึ้นมาประกอบเพื่อให้ได้ฟังบทพยัญชนะกัน

“กีฏาคิริสูตร” ว่าด้วยเหตุการณ์ในกีฏาคีรีนิคม พระพุทธเจ้าตรัสสอนแก่เหล่าภิกษุถึงเรื่องของ คุณของการฉันอาหารน้อย, ความเจริญและความเสื่อมของกุศลธรรม/อกุศลธรรมในเวทนา 3, กิจที่ควรทำด้วยความไม่ประมาทและบุคคล 7 จำพวก ได้แก่ 1.อุภโตภาควิมุต 2. ปัญญาวิมุต 3. กายสักขี 4. ทิฏฐิปัตตะ 5. สัทธาวิมุต 6. ธัมมานุสารี 7. สัทธานุสารี) ตั้งแต่กายสักขีถึงสัทธานุสารีนั้น เป็นพระอริยบุคคลที่ยังไม่ถึงขั้นพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าจึงยังทรงตรัสสอนให้ทำการด้วยความไม่ประมาท ส่วน อุภโตภาควิมุต และ ปัญญาวิมุต ท่านไม่ได้ตรัสสอน เพราะเป็นพระอรหันต์ผู้ทำกิจด้วยความไม่ประมาทอยู่แล้ว, การตั้งอยู่ในอรหัตตผลได้ด้วยการศึกษา การกระทำ การปฎิบัติ โดยลำดับ

การดำรงอยู่ในอรหัตตผล

 [๑๘๓] ภิกษุทั้งหลาย เราไม่กล่าวการบรรลุอรหัตตผลด้วยขั้นเดียวเท่านั้น แต่การบรรลุอรหัตตผล ย่อมมีได้ด้วยการบำเพ็ญสิกขาโดยลำดับ ด้วยการบำเพ็ญกิริยาโดยลำดับ ด้วยการบำเพ็ญปฏิปทาโดยลำดับ การบรรลุอรหัตตผล ย่อมมีได้ด้วยการบำเพ็ญสิกขาโดยลำดับ ด้วยการบำเพ็ญกิริยาโดยลำดับ ด้วยการบำเพ็ญปฏิปทาโดยลำดับ เป็นอย่างไร
             คือ กุลบุตรในศาสนานี้ เกิดศรัทธาแล้วย่อมเข้าไปหา เมื่อเข้าไปหาย่อมนั่งใกล้ เมื่อนั่งใกล้ย่อมเงี่ยโสตลงสดับ เงี่ยโสตลงสดับแล้วย่อมฟังธรรม ครั้นฟังธรรมแล้วย่อมทรงจำไว้ ย่อมพิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้แล้ว เมื่อพิจารณาเนื้อความอยู่ ธรรมทั้งหลายย่อมควรเพ่งพินิจ เมื่อมีการเพ่งพินิจธรรมอยู่ ฉันทะย่อมเกิด กุลบุตรนั้นเกิดฉันทะแล้ว ย่อมอุตสาหะ ครั้นอุตสาหะแล้ว ย่อมไตร่ตรองครั้นไตร่ตรองแล้ว ย่อมอุทิศกายและใจ เมื่ออุทิศกายและใจแล้ว ย่อมทำให้แจ้งสัจจะอันยอดเยี่ยมด้วยนามกาย และเห็นแจ่มแจ้งสัจจะอันยอดเยี่ยมนั้นด้วยปัญญา

 และสุดท้ายได้ตรัสถึงบท 4 ( อริยสัจจ 4 ) ที่วิญญูชนพึงรู้ได้ไม่นานด้วยปัญญา ความแห่งธรรมใดที่พระองค์ได้ยกขึ้นแสดงแล้ว ผู้ปฏิบัติตามคำสอนนั้นย่อมมีหลักปฏิบัติว่า พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดา ตนเป็นสาวก, ศาสนาของพระศาสดางอกงามมีโอชา (น่าเลื่อมใส ) แก่ผู้มีศรัทธาและผู้ปฏิบัติตามคำสอน, ย่อมมีหลักปฏิบัติว่าหากพากเพียรเพื่อบรรลุจุดที่มุ่งหมายแล้วยังไม่สำเร็จ จักไม่หยุดความเพียรนั้น แม้แลกด้วย หนัง เอ็น และกระดูก เนื้อและเลือดก็ตามที
และผลอย่างใดอย่างหนึ่งใน 2 อย่างที่หวังได้ คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือถ้ายังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จะเป็นอนาคามี

 “ปุตตมังสสูตร และ อาหารสูตร” ว่าด้วยอาหาร 4  ซึ่งทั้งสองพระสูตรนี้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนเกี่ยวกับอาหาร โดยใน ปุตตมังสสูตร จะได้ให้พิจารณากำหนดรู้ในอาหาร 4 อย่างนี้ ด้วยการยกอุปมาอุปไมยขึ้นเปรียบเทียบ ดังนี้คือ
กวฬิงการาหาร (อาหารคือคำข้าว) เหมือนกับสามีภรรยากินเนื้อบุตร เพื่อยังชีพขณะเดินทางข้ามทางกันดาร (ความจำเป็นในอาหาร เพื่อความอยู่รอดในการดำรงชีวิต)  เพื่อกำหนดรู้ความยินดีในกามคุณ 5
ผัสสาหาร (ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา) เหมือนกับแม่โคลูกอ่อนที่ไม่มีหนังหุ้ม ให้ระมัดระวังตัวจากการรบกวนของสัตว์และแมลงที่จะมาเจาะไชหรือกัด เพื่อกำหนดรู้ในเวทนาทั้ง 3
มโนสัญเจตนาหาร (เจตนาป็นปัจจัยให้เกิดกรรมคือการกระทำ)  เหมือนกับคนถูกลากลงสู่หลุมถ่านเพลิง ดิ้นรนหนีให้พ้นจากหลุมถ่านเพลิงนั้น เพื่อกำหนดรู้ในตัณหาทั้ง 3
วิญญาณาหาร (วิญญาณป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป ) เหมือนกับนักโทษประหารถูกแทงด้วยหอก 300 เล่ม เพื่อกำหนดรู้ในนามรูป

ด้วยเพราะความจำเป็นในการดำรงชีพให้ตั้งอยู่คงอยู่ได้สืบต่อไปและต่อไป จึงต้องมีตัณหาเป็นเหตุให้เกิดการแสวงหาในอาหาร 4 นี้

ส่วนใน อาหารสูตร นั้น เป็นการกล่าวถึง “มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด และมีอะไรเป็นแดนเกิด ของอาหาร 4 อย่างนี้” ซึ่งเป็นการแยกแยะแจกแจงให้เห็นถึงการเกิด – ดับของอาหาร

…อนึ่ง สังขารเหล่านี้มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด
สังขารทั้งหลายมีอวิชชาเป็นเหตุ มีอวิชชาเป็นเหตุเกิด มีอวิชชาเป็นกำเนิด มีอวิชชาเป็นแดนเกิด

ภิกษุทั้งหลาย เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารทั้งหลายจึงมี เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี ฯลฯ ดังพรรณนามาฉะนี้ ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้มีได้ด้วยประการฉะนี้

อนึ่ง เพราะอวิชชานั้นดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับวิญญาณจึงดับ ฯลฯ ดังพรรณนามาฉะนี้ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ มีได้ด้วยประการฉะนี้.

แนะนำรับฟังเพิ่มเติมได้ที่ Playlists: ใต้ร่มโพธิบท Ep.59 , Ep.58 , เข้าใจทำ (ธรรม)  Ep.56 ,