“สภาวะที่สะสมคืออาสวะ แต่ความที่ไม่รู้คืออวิชชา”

Q: ท่านอัญญาโกณทัญญะใช้เวลากี่วันจึงบรรลุธรรม

A: “อัญญาสิ วะตะ โภ โกณฑัญโญติ” เป็นเกียรติยศเฉพาะท่านเท่านั้น เพราะเป็นการตั้งความปรารถนาว่าต้องเป็นสาวกคนแรกที่สำเร็จ ถ้านับตั้งแต่การตั้งจิตไว้ก็แสนกัป ถ้านับจากวันที่พระโพธิสัตว์ออกบวชก็ 6 ปี นับจากวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ก็ 2 เดือนที่ได้เป็นโสดาบัน ส่วนอรหันต์ก็บวกไปอีก 3 – 5 วัน

Q: ถ้าเข้าใจว่าตัณหาเกิดจากเวทนาตามหลักในปฏิจจสมุปบาท การจะละได้ คือ เดินตามมรรค 8 และการเปรียบวิชชาเป็นปุ่ม on และอวิชชาเป็นปุ่ม off ที่เลื่อนได้ ถ้าเลื่อนปุ่มมาทางวิชชามาก ๆ ก็จะพ้นไปได้ แบบนี้ถูกหรือไม่

A: ที่เข้าใจตามหลักปฏิจจสมุปบาทถูกต้องแล้ว พอปฏิบัติมาตามมรค 8 ความยึดถือจะไม่มี และการเปรียบแบบปุ่มไฟที่เป็นแบบ analog ก็เป็นการเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะมันสามารถเลื่อนกลับมาได้ทำให้กลับกำเริบได้ แต่ถ้ามีความเข้าใจบางอย่างวิชชาเกิดขึ้นอวิชชาจะดับไปทันที

Q: กิเลสอยู่ในจิตเป็นอาสวะในจิต? การปฏิบัติตามมรรคทำให้อาสวะกิเลสลดลง? กิเลสเหมือนการเกิดแบบห่วงโซ่ไฟ? การคิดเชื่อมโยงแบบนี้ถูกหรือไม่ หรือเป็นการฟุ้งซ่าน

A: กิเลสแปลว่าเครื่องเศร้าหมองที่ทำให้การรับรู้ทางใจไม่ชัดเจน ทำให้มีผลออกมาเป็นความรู้สึกร้อนคือโทสะ หิวคือราคะ มึนมืดคือโมหะ กิเลสอยู่ในช่องทางใจ การฟื้นตัวของมันมาจากจิต เพราะว่าจิตมีสภาวะที่สั่งสมได้คืออาสวะ แต่อาสวะไม่ได้ทำให้จิตเศร้าหมอง การที่ไม่เห็นว่ามีอาสวะสะสมไว้ที่จิตทำให้เกิดอวิชชา จะเห็นได้เมื่อมีผัสสะมากระทบ จิตที่ไม่ได้รับการรักษาและมีสภาวะสั่งสมที่เราไม่รู้ พอมีอะไรมากระทบจะแสดงออกมาเป็นราคะโทสะและโมหะในช่องทางใจ จิตจึงต้องมีสติรักษา

ปรากฏการณ์ห่วงโซ่ทำให้ดูต่อเนื่อง เพราะความร้อนที่ทำให้เกิดการสันดาบต่อไป เหมือนการสัมพันธ์กันของกิเลสอาสวะอวิชชาและขันธ์ 5 การเดินมาตามมรรค 8 เริ่มจากสติจะหาทางไปได้ และการเชื่อมโยงชนิดที่เกิดความสงบถือว่าดี แต่ถ้าฟุ้งซ่านไม่ดี ต้องรู้จักปรับมีสติคอยคุม

Q: จัณฑาลบรรลุธรรมได้หรือไม่

A: ไม่ว่าใครก็สามารถบรรลุธรรมได้ถ้าปฏิบัติมาตามคำสอน

Q: นำหมามาปล่อยวัดที่คิดว่าเป็นเขตปลอดภัยจะได้บุญหรือบาป และการเลี้ยงที่เกินกำลังเป็นโมหะหรือไม่

A: เพราะเกินกำลังจึงเป็นโมหะเป็นการเบียดเบียนตนเอง วัดอาจไม่ใช่ที่ปลอดภัยเสมอไป การไม่รับผิดชอบแล้วก่อให้เกิดการเบียดเบียนกันแบบนี้ไม่ถูกต้อง และท้ายสุดต้องมีอุเบกขาว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

Q: เทวตาพลีเป็นอย่างไร

A: เทวตาพลี คือ การสละออกเพื่อการสงเคราะห์เทวดา ทำได้หลายอย่างทั้งในเทวดาหรือในมนุษย์ที่มีศีล