ปฏิบัติภาวนา ด้วยการเจริญอานาปานสติ มีสติอยู่กับลมหายใจ จนจิตสงบระงับเพื่อสังเกตเห็นผัสสะที่เข้ามา เห็นการเปลี่ยนแปลงของจิตที่มีเวทนาสุข ทุกข์ ไม่สุข-ไม่ทุกข์ เพื่อให้เข้าถึงปัญญาว่า ผัสสะที่เข้ามากระทบนั้นไม่เที่ยง ผ่านทางกายที่ไม่เที่ยง เวทนาที่เกิดขึ้นในจิตนั้นจึงไม่เที่ยง เกิดวิชชาขึ้นทันที เห็นความดับไปของอวิชชา ลดการสั่งสมของอวิชชาอาสวะออกจากจิตเรา พอสั่งสมไม่ได้ อวิชชาอาสวะก็ค่อยๆ หลุดออกไป ดังนั้นหากเราเข้าใจถูก มันจะไม่เกิดสภาวะแห่งการสั่งสมของอวิชชา มันก็ดับลงไปได้เองนั่นแล

แต่หากผัสสะที่เข้ามากระทบเป็นเหตุเป็นปัจจัยเกิดเวทนาที่ช่องทางใจ มันก็จะสั่งสมเป็นอาสวะอยู่ที่จิต เกิดเป็นความพอใจ เกิดตัณหา เกิดกามสวะ เกิดความไม่อยากได้ ก็เกิดการสะสมภพ เกิดภวาสวะ เกิดความไม่รู้ ไม่เข้าใจในผัสสะเวทนานั้น มันก็จะเข้าไปสะสมในจิตเกิดอวิชชาสวะ สภาวะแห่งการสะสมก็คือ จิตมีความไม่รู้ไม่เข้าใจ สั่งสมสิ่งที่เป็นกาม ภพ อวิชชา ต่อไปๆ

พระพุทธเจ้าทรงเทศนาเรื่องเวทนา ทรงโปรดปริพาชกชื่ออัคคิเวสสนะ พระสารีบุตรนั่งถวายงานพัดอยู่ ณ เบื้องพระปฤษฎางค์ของพระพุทธองค์ ได้ฟังเทศนานั้น ท่านฟังด้วยจิตที่เป็นสมาธิ ด้วยปัญญาที่มีมากของพระสารีบุตร ท่านฟังนัยยะที่พระพุทธเจ้าทรงเทศนาเรื่องเวทนา ท่านสามารถแยกแยะ แตกฉาน ท่านเห็นในสมาธิกว้างขวางออกไปได้ถึง 16 อย่าง และลึกลงไปในรายละเอียดได้ถึง 7 อย่าง ในแต่ละชั้นฌานสมาธิ จึงได้สำเร็จพระอรหันต์

ท่านพระสารีบุตรด้วยความที่มีปัญญามาก ท่านพิจารณาใคร่ครวญแต่ละจุดๆ เห็นแจ่มแจ้งเหมือนกันหมดว่าสิ่งใดที่ไม่เคยมีมา ด้วยเหตุที่มันปรุงแต่งมา สิ่งที่มีมา ตั้งอยู่คงอยู่ ด้วยเหตุที่มันยังอยู่ มันยังคงไว้ สิ่งที่มันมีมาตั้งอยู่แล้ว บางทีมันก็เสื่อมไป ตั้งหายไป ตามเหตุที่มันเปลี่ยนไปดับไป เกิดมีอยู่ขึ้นมา จากเดิมที่มันก็ไม่ได้มีมา มีมาอยู่ดีแล้ว ตั้งไว้ บางทีก็เสื่อมไป ทุกอย่างล่วนมีเหตุปัจจัย เกิดขึ้นได้ไม่เพียงแต่เวทนา ยังเกิดกับสัญญา จิตที่เป็นหนึ่ง (เอกัคคตา) สุข ปีติ วิตก วิจาร วิญญาณ ฉันทะ ความเพียร สติ อุเบกขา อภิโมกข์…ว่า 1. มีความไม่เที่ยงเป็นธรรมดา (อนิจจัง) 2. เป็นของปรุงแต่ง (สังขตะ) 3. เป็นของอาศัยการเกิดขึ้น (ปฏิจจสมุปปันนธรรม) 4. มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา (วยธรรมา) 5. มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา (ขยธรรมา) 6. มีความจางคลายเป็นธรรมดา (วิราคะธรรมา) 7. มีความดับเป็นธรรมดา (นิโรธธรรมา)

ท่านเห็นได้กำหนดตามลำดับบททั้งที่มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แบบนี้ 7 อย่าง ใน 16 อย่างนี้ จึงเกิดอริยะปัญญา ปัญญาที่เป็นของประเสริฐของพระอริยเจ้า เห็นความไม่เที่ยงซ้ำๆ ในฌานอย่างละเอียดลึกลึ้งจึงเบื่อหน่าย คลายกำหนัด เกิดนิพพิทา และปล่อยวาง วิมุตติ (ความพ้น) จึงเกิดขึ้น