อยู่ในหมวดธรรมะ 5 ข้อ หมวดที่ 3 เป็นเรื่องเกี่ยวกับการได้มาซึ่งสัมมาสมาธิจนไล่ลำดับไปถึงปัญญาเพื่อการหลุดพ้น ในปฐม และทุติยอคารวสูตร ว่าด้วยความไม่เคารพ มีเนื้อหาคล้ายกันพูดถึงเหตุปัจจัยที่จะได้สัมมาสมาธิ และเปรียบเทียบส่วนต่างว่า ถ้าทำอย่างนี้จะไม่ได้ หรือได้สัมมาสมาธิ ในข้อที่ 21 เริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ แล้วค่อย ๆ ทำให้เกิดสิ่งที่ยิ่งใหญ่ตามมา นั่นคือ เริ่มจากการมีความเคารพยำเกรงในเพื่อนผู้ประพฤติพรหมจรรย์ก่อให้เกิดอภิสมาจาริกธรรม อภิสมาจาริกธรรมก่อให้เกิดเสขธรรม เสขธรรมก่อให้เกิดศีล ศีลก่อให้เกิดสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิก่อให้เกิดสัมมาสมาธิ ในข้อที่ 22 เปลี่ยนตรง 3 ข้อสุดท้ายจากศีลเป็นสีลขันธ์ จากสัมมาทิฏฐิเป็นสมาธิขันธ์ จากสัมมาสมาธิเป็นปัญญาขันธ์ เป็นความละเอียดลงไปในแต่ละข้อ ศีลก็เป็นเหตุให้เกิดสมาธิ สมาธิต่อยอดขึ้นไปก็เป็นปัญญาขึ้นมา ในข้อที่ 23 ว่าด้วยความเศร้าหมอง เปรียบเทียบอุปมาอุปไมยเครื่องเศร้าหมอง 5 อย่างของทองกับของจิต ที่เมื่อกำจัดออกไปแล้วจะทำให้ถึงซึ่งนิพพานได้ เครื่องเศร้าหมองของจิตก็คือ นิวรณ์ 5 นั่นเอง จะกำจัดออกไปได้ก็ด้วยสติ ถ้าเรากำจัดนิวรณ์ออกไปจากจิตได้ ความรู้ 6 อย่างจะเกิดขึ้น และจะเป็นตัวที่จะทำให้บรรลุธรรมได้ ในข้อที่ 24 ทุสสีลสูตร ว่าด้วยโทษแห่งความทุศีล และคุณแห่งความมีศีล เปรียบกับต้นไม้ที่มีกิ่งหัก สะเก็ด เปลือก กระพี้ และแก่นจะสมบรูณ์ไปได้อย่างไร เหมือนกับผู้ทุศีลจะไม่สามารถมีสัมมาสมาธิได้ เมื่อไม่มีสัมมาสมาธิการเห็นตามความเป็นจริงย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะศีลเปรียบเหมือนฐานรากของทุกสิ่ง ถ้าศีลสมบรูณ์บริบรูณ์ก่อให้เกิดสัมมาสมาธิที่สมบรูณ์บริบรูณ์ จนทำให้เกิดปัญญาในการเห็นความไม่เที่ยง เกิดยถาภูตญาณทัสสนะ นิพพิทา วิราคะ ทำวิมุตติให้เกิดขึ้นได้ ในข้อที่ 25 ศีล สุตตะ สากัจฉา สมถะ และวิปัสสนา 5 อย่างนี้เป็นองค์ประกอบของสัมมาทิฏฐิ ในข้อที่ 26 บอกถึงลักษณะของบุคคลที่จะบรรลุธรรมได้จากการฟัง การแสดงธรรม การสาธยายธรรม ตรึกตามตรองตามเรื่องที่ได้ฟังมา และมีสมาธิดีจนเข้าใจธรรม ในข้อที่ 27 สมาธิที่เจริญแล้วทำให้เกิดญาณความรู้เฉพาะตนขึ้น สมาธิเราก้าวหน้าหรือไม่ ดูได้จากการเกิดขึ้นหรือไม่ของ 5 ข้อนี้

(พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ปัญจังคิกวรรค หมวดว่าด้วยการเจริญสัมมาสมาธิที่ประกอบด้วยองค์ ๕ ข้อที่ 21 – 27)