พระพุทธเจ้าได้ทรงแบ่งบุคคลออกเป็น 10 ประเภท ตรัสไว้ใน “กามโภคีสูตร” ว่าด้วยผู้ที่ยังบริโภคกามอยู่ ปรารภอนาถบิณฑิกเศรษฐีที่มาวัดทุกวัน แต่ไม่ถามอะไร ด้วยอัธยาศรัยของพระพุทธองค์จึงทรงเมตตาตรัสแสดงธรรมแก่เศรษฐีให้ได้ฟัง โดยแจกแจงตามเกณฑ์ 4 อย่าง คือในการหา, การใช้, การสละ และความกำหนัด

สำหรับผู้ที่ยังยินดีในการบริโภคกาม นั้นหมายถึง ยังมีความยินดีพอใจในวัตถุกามอยู่ ความพอใจนั้นคือ “กิเลสกาม” เป็นกิเลสกามชนิดที่ยังต้องไปแสวงหาวัตถุกามอยู่ ถ้ากิเลสกามที่อยู่ในใจมันมากจะเป็นไปโดยการแสวงหาที่ไม่ชอบธรรม แต่ในทางกลับกันถ้ากิเลสกามมีน้อยมาก ก็จะเป็นไปเพื่อการหลีกออกจากาม

ประเด็นในที่นี้คือ เราจะประคองตนอย่างไรให้มีความเลิศ ให้มีความดี ให้เป็นอยู่ตามธรรมตามวินัย เป็นบุคคลประเภที่ 10 ที่หาทรัพย์มาโดยความชอบธรรม มีการใช้จ่ายทำตนให้มีความสุขอิ่มหนำ มีการแบ่งโภคทรัพย์บำเพ็ญบุญ และไม่กำหนัด ไม่ลุ่มหลงมั่วเมา มีปัญญาเห็นโทษ มีกำลังจิตกำลังใจในการที่จะสละออกในโทษของกามทั้งหลาย เรียกว่าเป็น “ผู้บริโภคกามชั้นเลิศ” ได้

“ดูกรคฤหบดี กามโภคีบุคคล ๑๐ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก บรรดากามโภคีบุคคล ๑๐ จำพวกนี้ กามโภคีบุคคลผู้แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม โดยไม่ทารุณ ครั้นแสวงหาได้แล้ว ย่อมเลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ แจกจ่าย กระทำบุญ และเป็นผู้ไม่กำหนัด ไม่หมกมุ่น ไม่จดจ่อ เห็นโทษ มีปัญญา เป็นเครื่องสลัดออก บริโภคโภคทรัพย์นั้น นี้เป็นผู้เลิศ ประเสริฐ เป็นใหญ่ สูงสุด ดีกว่ากามโภคีบุคคล ๑๐ จำพวกนี้

ดูกรคฤหบดี นมสดเกิดจากแม่โค นมส้มเกิดจากนมสด เนยข้นเกิดจากนมส้ม เนยใสเกิดจากเนยข้น หัวเนยใส เกิดจากเนยใส หัวเนยใสโลกกล่าวว่า เลิศกว่านมสดเป็นต้นเหล่านั้น ฉันใด กามโภคีบุคคลผู้แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม โดยไม่ทารุณ ครั้นแสวงหา ได้แล้ว ย่อมเลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ แจกจ่าย กระทำบุญ และเป็น ผู้ไม่กำหนัด ไม่หมกมุ่น ไม่จดจ่อ เห็นโทษ มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก บริโภค โภคทรัพย์นั้น นี้เป็นผู้เลิศ ประเสริฐ เป็นใหญ่สูงสุด ดีกว่ากามโภคี บุคคล ๑๐ จำพวกนี้ ฉันนั้น ฯ”

แนะนำรับฟังเพิ่มเติมได้ที่ Playlists:  ชุดเพชรในพระไตรปิฎก Ep.40, นิทานพรรณา Ep.44