นิทานชาดกในเอพิโสดนี้ ได้ยกเรื่องราวที่เกี่ยวกับกาขึ้นมาใน 2 วาระ ซึ่งได้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับการกำจัดกิเลส โดยในวาระแรก ปรารภเหล่าพระเถระแก่ผู้สหายที่พากันกอดคอร่ำไห้คร่ำครวญถึงอุบาสิกา ผู้มีรสมืออันอร่อย และมีอุปการะต่อตนได้ตายลง พระพุทธเจ้าจึงนำอดีตนิทาน “กากชาดก” มาเล่า แล้วตรัสสอนว่า “ท่านทั้งหลาย จงตัดกิเลสดุจป่า อย่าตัดต้นไม้”  

ในวาระที่ 2 เป็นเรื่องของการผูกอาฆาตระหว่างพราหมณ์ปุโรหิตกับกา โดยพราหมณ์ปุโรหิตได้คิดอุบายใช้พระราชาเป็นเครื่องมือในการแก้แค้น แต่ในครั้งนั้นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญากา ได้มาเตือนสติพระราชาให้สามารถปรับปรุงแก้ไขตนให้ตั้งมั่นอยู่ในศีลในธรรมได้

และเรื่องสุดท้ายที่ได้ยกมาประกอบกัน ปรารภเหล่าภิกษุได้สนทนากันถึงความที่พระเทวทัตกระทำมุสาวาทจึงถูกแผ่นดินสูบ พระพุทธองค์จึงทรงนำเอา “เจติยราชชาดก” ขึ้นมาสาธก ยกตัวอย่างเสริมเพื่ออธิบายให้เข้าใจแจ่มแจ้งยิ่งขึ้น

ธรรมบทแปล เรื่อง พระเถระแก่ ภาคที่ 7 เรื่องที่ 209 

“ท่านทั้งหลายจงตัดกิเลสดุจป่า อย่าตัดต้นไม้, ภัยย่อมเกิดแต่กิเลสดุจป่า, ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลาย จงตัดกิเลสดุจป่า และดุจหมู่ไม้ตั้งอยู่ในป่าแล้ว เป็นผู้ไม่มีกิเลสดุจป่าเถิด; เพราะกิเลสดุจหมู่ไม้ตั้งอยู่ในป่า ถึงมีประมาณนิดหน่อยของนรชนยังไม่ขาดในนารีทั้งหลายเพียงใด, เขาเป็นเหมือนลูกโคที่ยังดื่มน้ำนม มีใจปฏิพัทธ์ในมารดาเพียงนั้น.”

แนะนำรับฟังเพิ่มเติมได้ที่ Playlists: คลังพระสูตร E08S21