“เข้าใจเหตุ และผล จะดับทั้งกรรมดำ และขาวได้”

ในทุจจริตวรรคจะมีการแบ่งเนื้อหาด้านในแต่ละข้อคล้ายกับในโสภณวรรคที่ผ่านมา ทุจจริตวรรคแบ่งตามทุจริต สุจริต และคนพาลหรือบัณฑิต มีต่างออกไปตรงกวิสูตรที่แบ่งตามการเกิดขึ้นของคำกลอน คือ ตามความคิด ตามการฟัง ตามความหมาย และตามปฏิภาณ จบทุจจริตวรรค

เริ่มกัมมวรรคหมวดว่าด้วยกรรม เป็นเรื่องของกรรม และวิบาก 4 ประเภท 1. กรรมดำวิบากดำ ปรุงแต่งไปทางเบียดเบียน จิตจึงน้อมไปในโลกที่มีแต่การเบียดเบียน ผลหรือวิบากจึงไปทางนั้น คือโลกของสัตว์นรก 2. กรรมขาววิบากขาว จิตปรุงแต่งมาในทางไม่เบียดเบียน ได้ผลเป็นวิบากขาวสู่โลกที่ไม่มีการเบียดเบียน เช่น เทพบางชนิด 3. มีทั้งกรรมดำกรรมขาว และวิบากทั้งดำและขาว ปรุงแต่งไปได้ทั้งสองฝ่าย คือ ส่วนของโลกมนุษย์ 4. กรรมที่ไม่ดำไม่ขาว วิบากไม่ดำไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม คือ เดินมาตามทางมรรคแปด การเข้าใจเหตุและผลซึ่งก็คือ มีความรู้ในอริยสัจสี่จะนำไปถึงความดับของกรรมดำกรรมขาว ที่ควรทำความเข้าใจ คือ ทำไมไม่จัดกรรมขาวว่าเป็นมรรค เพราะการทำความดีทั้งหมดไม่ใช่ว่าจะพ้นทุกข์ได้ กรรมดีทั้งหมดเป็นกรรมขาว แต่คุณก็ยังวนเวียนอยู่ในกรรมขาววิบากขาวนั่นแหละ แต่ว่าการที่เราจะพ้นจากทั้งดำและขาวได้ คุณก็ต้องมาตามทางขาว นี้เป็นสำคัญ ทำไปเรื่อย ๆจะมีปัญญาเห็นได้ 

(จตุกกนิบาต: ทุจจริตวรรค ข้อที่ 221 – 231 และกัมมวรรค ข้อที่ 232 – 237)