จตุกกนิบาต อุรุเวลวรรค หมวดว่าด้วยพุทธกิจในตำบลอุรุเวลา

ข้อที่ #21_ปฐมอุรุเวลสูตร ว่าด้วยพุทธกิจในตำบลอุรุเวลา สูตรที่ ๑ เป็นการรำพึงของพระพุทธเจ้าหลังตรัสรู้ว่า ควรเคารพยำเกรงในสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดหรือไม่ เพราะผู้ไม่เคารพไม่ยำเกรงสิ่งใดย่อมเป็นทุกข์ เมื่อใคร่ครวญแล้วไม่พบว่าสมณะใดมีความบริบูรณ์เท่า (ความบริบูรณ์ 4 อย่าง คือ ความบริบูรณ์แห่งสีลขันธ์, สมาธิขันธ์, ปัญญาขันธ์, วิมุตติขันธ์) จึงดำริที่จะเคารพในธรรมที่ตรัสรู้และเคารพในสงฆ์ที่มีคุณอันใหญ่ด้วย (หมู่พระอริยบุคคล) ท้าวสหมบดีพรหมที่คนยกย่องว่าเป็นผู้สร้างก็ยังเคารพธรรมนั้น

*ในข้อนี้จะเห็นว่า การเอาเป็นที่เคารพนั้นมีความต่างกับการยึดติดยึดถือ เพราะถ้ายึดถือ ทุกข์จะอยู่ตรงนั้น ทำให้เสียหลักได้

ข้อที่ #22_ทุติยอุรุเวลสูตร ว่าด้วยพุทธกิจในตำบลอุรุเวลา สูตรที่ ๒ พราหมณ์ได้มารุกรานถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “ทำไมพระองค์จึงไม่ลุกขึ้นไหว้ ต้อนรับ เชื้อเชิญพราหมณ์ผู้เป็นผู้ใหญ่” เพราะด้วยความไม่รู้ความเป็นเถระของพราหมณ์ พระพุทธเจ้าตอบพราหมณ์ว่า อย่างไรจึงเรียกว่าเถระ เถระไม่ได้ดูจากอายุเท่านั้น ธรรมที่ทำให้ชื่อว่าเถระมาจาก การมีศีล เป็นพหูสูตร ได้ฌานทั้ง 4 และเป็นอรหันต์

*ตรงนี้ทำให้พุทธองค์เห็นว่า ธรรมนี้ยากที่สัตว์โลกจะรู้ตาม จึงขวนขวายน้อย ท้าวสหมบดีพรหมจึงมากล่าวอาราธนาให้แสดงธรรม

ข้อที่ #23_โลกสูตร ว่าด้วยโลก 4 นัยยะแห่งการเรียกว่า “ตถาคต” คือ 1. รอบรู้เรื่องโลก (ทุกข์) ในนัยยะของอริยสัจ 4 (กิจในอริยสัจ) 2. คำสอนตั้งแต่ตรัสรู้จนปรินิพพานล้วนลงกัน 3. กล่าวอย่างไรทำอย่างนั้น ทำอย่างไรกล่าวอย่างนั้น 4. เป็นผู้ยิ่งใหญ่ไม่มีใครข่มเหงได้ในโลก

ข้อที่ #24_กาฬการามสูตร ว่าด้วยพุทธกิจในกาฬการาม ความเป็นผู้คงที่ (ไม่หวั่นไหวเพราะโลกธรรม 8 ) ของพระพุทธเจ้านั้นปราณีตมาก ความไม่สำคัญ คือ ไม่สำคัญว่าได้… ว่าไม่ได้… ว่าต้องได้…ว่าเป็นผู้ได้… ไปใน 4 สถานะ (อายตนะภายนอก 6 ) เท่ากับไม่สะดุ้งสะเทือนไปตามสิ่งที่รู้ คือ สักแต่ว่ารู้ จึงเหนือโลก

ข้อที่ #25_พรหมจริยสูตร ว่าด้วยการประพฤติพรหมจรรย์ จะเห็นถึงคำสอนนี้เป็นไปเพื่อสำรวมระวัง เพื่อละ เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับทุกข์ ไม่ใช่เพื่อลาภสักการะ หรือลวงคน สามารถยืนยันได้ว่า สิ่งนี้มีในเรา สิ่งนี้ไม่มีในเราได้ เป็นความมั่นใจ

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๓ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต อุรุเวลวรรค


Tstamp

[03:20] ปฐมอุรุเวลสูตร ว่าด้วยพุทธกิจในตำบลอุรุเวลา สูตรที่ ๑
[19:15] ทุติยอุรุเวลสูตร ว่าด้วยพุทธกิจในตำบลอุรุเวลา สูตรที่ ๒
[32:15] โลกสูตร ว่าด้วยโลก
[41:25] กาฬการามสูตร ว่าด้วยพุทธกิจในกาฬการาม
[49:40] พรหมจริยสูตร ว่าด้วยการประพฤติพรหมจรรย์