เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ เด็กในวันนี้จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า ความเป็นพหูสูตจึงสำคัญต่อเด็กอย่างมาก หรือแม้กระทั่งผู้ใหญ่เองก็ควรที่จะให้ความสนใจในการศึกษาหาความรู้ใหม่ ๆ เพิ่มเติมอยู่เสมอ

ตอบคำถามของท่านผู้ฟังจากตอน “สมณะแกลบ” ที่ออกอากาศไป โดยกล่าวถึงการนับข้อธรรมใน “การัณฑวสูตร” ให้ได้ครบ 8 ข้อนั้น ให้ลองสังเกตจากการอ่านทบทวนหรือศึกษาเพิ่มเติมอาจจะเปิดเผยสิ่งที่ยังไม่เห็น และอีกหนึ่งคำถามที่ถามว่า “เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราโดนลาภสักการะเล่นงานเข้าแล้ว” ให้เราหมั่นเตือนตนด้วยตนและการมีกัลยาณมิตรที่ดีจะคอยช่วยเตือนกันและกัน

เรื่องราวใน 2 พระสูตรแรก เป็นการนำเอาม้าอาชาไนยและม้าแกลบมาเปรียบเทียบกับบุคคลผู้เป็นอาชาไนยหรือบุคคลกระจอก โดยใน ข้อที่#13_อัสสาชานิยสูตรว่าด้วยม้าอาชาไนย มีใจความอุปมาอุปไมยดังนี้

1.    เป็นสัตว์มีกำเนิดดีทั้งฝ่ายแม่ม้าและพ่อม้า อุปไมยกับ => บุคคลผู้มีศีลดี

2.    กินหญ้าที่เขาให้อย่างเรียบร้อยไม่เรี่ยราด => ฉันโภชนะที่เขาถวายโดยเคารพไม่รังเกียจ

3.    รังเกียจที่จะนอนทับอุจจาระหรือปัสสาวะ => รังเกียจกาย วาจา ใจทุจริต ตลอดถึงรังเกียจบาปอกุศลธรรมต่าง ๆ

4.    เป็นสัตว์สงบเสงี่ยม อยู่ร่วมกันเป็นสุข => เป็นผู้สงบเสงี่ยม อยู่ร่วมกันเป็นสุข

5.    เปิดเผยความโอ้อวด ความพยศคดโกงแก่นายสารถี => เปิดเผยความไม่ดีของตนแก่พระศาสดาหรือเพื่อนพรหมจารีตามความเป็นจริง

6.    นายสารถีปราบความโอ้อวด ความพยศของมันได้ => พระศาสดาหรือเพื่อนพรหมจารีพยายามช่วยกันกำจัดความโอ้อวดความคดโกงเหล่านั้นของเธอได้

7.    เป็นสัตว์ลากภาระไปได้ => เป็นผู้ศึกษา คือ ใฝ่ใจจะศึกษา

8.    เป็นสัตว์มีกำลัง => เป็นผู้ปรารภความเพียร (ด้วยองค์ 4 คือ หนัง เอ็น กระดูก เนื้อ และเลือด)

ข้อที่ #14_อัสสขฬุงกสูตร ว่าด้วยม้ากระจอกและคนกระจอก มีใจความอุปมาอุปไมยดังนี้

1.    ถูกนายสารถีสั่งว่า ‘เดินไป’ แต่กลับถอยหลัง ดันรถให้กลับหลัง => อำพรางอาบัติไว้ เพราะระลึกไม่ได้

2.    ..แต่กลับหกหลัง ดัดทูบให้หัก => ถูกโจทก์ด้วยอาบัติแต่โต้ตอบภิกษุผู้เป็นโจทก์ว่าไม่มีคุณสมบัติที่จะมากล่าวโจทก์

3.    ..ยกขาขึ้นตะกุยงอนรถ ถีบงอนรถ => โจทก์กลับด้วยอาบัติเดียวกัน

4.    ..เดินผิดทาง ทำให้รถไปผิดทาง => พูดกลบเกลื่อน พูดนอกเรื่อง แสดงอาการโกรธ ขัดเคือง

5.    ..เชิดกายส่วนหน้า เผ่นขึ้นไป => แสดงอาการไม่เคารพในหมู่สงฆ์

6.    ..ไม่คำนึงถึงประตัก กัดบังเหียน หลีกไปตามความประสงค์ =>ไม่เอื้อเฟื้อสงฆ์ ทั้งที่มีอาบัติติดตัวอยู่กลับหลีกหนีไป

7.    ..ไม่ก้าวไป ไม่ถอยหลัง ยืนทื่ออยู่เหมือนเสาเขื่อน => กล่าวว่าตนไม่อาบัติแล้วใช้ความนิ่งทำให้สงฆ์ลำบาก

8.    ..ลงหมอบทับเท้าทั้ง 4 อยู่ที่ตรงนั้น => ไม่ยอมรับการกล่าวโจทก์แล้วบอกคืนสิกขา

ข้อที่ #15_มลสูตร ว่าด้วยมลทิน (ความมัวหมอง)

“มนตร์ มีการไม่ท่องบ่นเป็นมลทิน 

เรือน มีความไม่ขยันหมั่นเพียรเป็นมลทิน 

ผิวพรรณ มีความเกียจคร้านเป็นมลทิน 

ผู้รักษา มีความประมาทเป็นมลทิน 

สตรี มีความประพฤติชั่วเป็นมลทิน 

ผู้ให้ มีความตระหนี่เป็นมลทิน 

บาปธรรม เป็นมลทินทั้งในโลกนี้และโลกหน้า 

มลทินที่ยิ่งกว่ามลทินนั้นคือ..อวิชชา”

พระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ 15 [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย มหาวรรค


Tstamp

[04:04] พหูสูตรคุณธรรมที่เหมาะสำหรับเด็กและผู้ใหญ่
[07:32] Q: การัณฑวสูตร 8 ประการที่ตรงไหน
[13:11] Q: จะทราบได้อย่างไรว่าโดนลาภสักการะเล่นงานเข้าแล้ว ไม่เป็นเช่นสมณะแกลบ
[19:19] อัสสาชานิยสูตร ว่าด้วยม้าอาชาไนย
[30:15] อัสสขฬุงกสูตร ว่าด้วยม้ากระจอกและคนกระจอก
[44:35] มลสูตร ว่าด้วยมลทิน
[48:53] ประชาสัมพันธ์งาน “ขุมทรัพย์แห่งใจ”