Q : สวดมนต์เยอะและนานดีหรือไม่อย่างไร?
A : ที่สำคัญคือเมื่อสวดมนต์แล้วจิตสงบหรือไม่ หากสวดมนต์แล้วจิตสงบมีปิติสุข จิตเป็นสมาธิ นั่นจะเป็นทางที่ไปสู่วิมุตคือหลุดพ้นจากกิเลสได้ ซึ่งทางไปสู่วิมุตยังมีทางอื่น ๆ ทั้งการนั่งสมาธิ การฟังธรรม การสอนธรรมะ การใคร่ครวญธรรม ก็ล้วนแล้วแต่เป็นทางที่ไปสู่วิมุตได้

Q : นั่งสมาธิได้ไม่นาน แค่ไหนจึงจะเพียงพอ
A : สมาธิอยู่ที่จิตสามารถทำได้ในทุกอิริยาบถ สิ่งที่สำคัญคือจิตเราต้องเป็นสมาธิ ไม่เกี่ยวกับเวลา ท่านสอนไว้ 2 วิธี คือ “ทุกขาปฏิปทา” หมายถึง พิจารณาความไม่เที่ยง เห็นถึงความไม่เที่ยง เห็นเป็นของไม่น่ายินดี เป็นสิ่งปฏิกูล ไม่ใช่ว่าทุกขาปฏิปทาคือความทุกข์ วิธีนี้คนที่มีราคะ โทสะ โมหะกล้า จิตจะสงบค่อนข้างยาก ก็ให้พิจารณาตรงที่ไม่สงบ ให้เห็นเป็นความของไม่เที่ยง เห็นเป็นของไม่ใช่ตัวตนด้วยความเป็นทุกข์ และ “สุขาปฏิปทา” หมายถึง ได้ความสุขจากสมาธิ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน อิริยาบถใดก็ได้สุขจากสมาธิ คนที่มีราคะ โทสะ โมหะ เบาบางจะใช้วิธีนี้ได้ดี เพราะจิตเขาจะฟุ้งซ่านน้อยจิตสงบได้ง่าย

Q : ปฏิบัติที่บ้านได้หรือไม่?
A : ปฏิบัติที่ไหนก็ได้ ในอิริยาบถใดก็ได้ ไม่จำกัดด้วยกาล ไม่จำกัดด้วยเวลา แต่จะมีที่อโคจรที่เราไม่ควรไป เพราะจะทำให้จิตสงบได้ยาก ได้แก่ โรงสุรา ที่เล่นการพนัน ซ่องโสเภณี หรือบ้านของคนที่ไม่มีศรัทธา ท่านให้เกณฑ์การเลือกสถานที่ไว้ดังนี้ คือ 1) หากอยู่ที่ไหน จิตที่ยังไม่ตั้งมั่นก็ไม่ตั้งมั่น อาสวะที่ยังละไม่ได้ก็ยังละไม่ได้ อย่าอยู่ให้รีบไปเดี๋ยวนั้นทันที 2) หากอยู่แล้วการภาวนายังไม่ดี แต่อาหารบิณฑบาตหาได้ง่าย ทำมาหากินดี ให้วางแผนว่าจะย้ายเมื่อไหร่ 3) หากสถานที่ไหนที่อยู่แล้วจิตสงบ จิตที่ยังไม่ตั้งมั่น ก็ตั้งมั่น อาสวะที่ยังละไม่ได้ก็ละได้ ถึงแม้สถานที่นี้ การทำมาหากินจะฝืดเคือง บิณฑบาตหายาก ลาภปัจจัย 4 น้อย เดินทางลำบาก ก็ให้อยู่ไปเรื่อย ๆ ให้เอาการภาวนาเป็นหลัก 4) หากสถานที่ไหนอยู่แล้วจิตที่ยังไม่ตั้งมั่นก็ตั้งมั่น อาสวะที่ยังละไม่ได้ก็ละได้ อาหารการกินดี เดินทางสะดวก ให้อยู่ไปตลอดชีวิต

Q : เทคโนโลยีกับการปฏิบัติธรรม
A : กระแสของโลกที่พัดเข้ามาตลอดไม่หยุดนั้นเรารับรู้ได้ผ่านทาง หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจของเรา การปฏิบัติตามมรรค 8 จะทำให้จิตไม่พัดไปตามกระแส ยิ่งกระแสพัดเข้ามาแรง เราก็ยิ่งต้องปฏิบัติให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ซึ่งการที่จิตเราจะทวนกระแสได้นั้น เราต้องมี “ศรัทธา” เราต้องตั้งศรัทธาไว้ให้ถูก “อย่าตั้งศรัทธาไว้ในบุคคล แต่ให้ตั้งศรัทธาไว้ในระบบ” ระบบคือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เมื่อเราตั้งศรัทธาไว้ถูกต้อง เราก็จะไม่ได้รับโทษของศรัทธา ถ้าเรารู้จักแยกแยะเห็นได้ด้วยปัญญา ศรัทธาเราก็จะมั่นคงขึ้น หนุนศรัทธาได้ด้วยปัญญา พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ก่อนที่ท่านจะตรัสรู้ธรรมว่า “ท่านไม่สันโดษเลย ไม่รู้จักอิ่มจักพอเลยในกุศลธรรมทั้งหลาย” การที่เราจะสันโดษได้แทนที่เราจะตั้งไว้ในเรื่องกาม เราก็มาตั้งไว้ในธรรมะแทน เป็นการปรารถความเพียร เป็นหนึ่งในอิทธิบาท 4  


Tstamp

[04:51] สวดมนต์เยอะและนานดีหรือไม่อย่างไร?
[11:48] นั่งสมาธิได้ไม่นาน แค่ไหนจึงจะเพียงพอ
[26:03] ปฏิบัติที่บ้านได้หรือไม่?
[30:37] เทคโนโลยีกับการปฏิบัติธรรม