ช่วงไต่ตามทาง: ปลดหนี้

  • ผู้ฟังท่านนี้ถูกเพื่อนชักชวนให้ลงทุนในธุรกิจเสริมความงาม ตกลงแบ่งกำไรให้ 40% จึงไปกู้เงินเพื่อมาลงทุนเพิ่มเกือบ 10 ล้านบาท ด้วยความเชื่อใจที่เป็นเพื่อนกันจึงไม่ได้ทำเอกสารหลักฐานอะไรไว้ ผ่านไป 2 ปี พบว่าธุรกิจนั้นไม่มีส่วนที่เพื่อนลงทุนเลย แต่ทรัพย์สินของธุรกิจกลับเป็นชื่อเพื่อนทั้งหมด เมื่อกิจการถูกปิด สรุปมีหนี้ 15 ล้านบาทที่ผู้ฟังท่านนี้ต้องชดใช้ให้เจ้าหนี้ ผู้ฟังท่านนี้ใช้เวลา 3 เดือน ติดต่อดำเนินคดีกับอีกฝ่ายแต่ไม่มีวี่แววว่าจะได้รับการชดใช้เงินคืน จึงตัดใจไม่ดำเนินคดีต่อแล้วหันมาตั้งหน้าตั้งตาทำงานใหม่ เจรจากับเจ้าหนี้ ผ่านไปไม่ถึงปี ก็สามารถปลดหนี้ทั้งหมดได้
  • ได้เรียนรู้ว่า เพราะความโลภ ความไม่รอบคอบ และความประมาท จึงเกิดเหตุการณ์นี้ การเป็นคดีความ ใช้เวลามาก แต่เมื่อตัดใจเอาเวลาไปทุ่มเทกับการทำงานด้วยจิตใจที่ไม่มีความโกรธ ไม่มีความอาฆาตคิดร้ายต่อเพื่อนที่โกง มีเมตตา มีอุเบกขา ทำให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ แม้ยังมีหนี้ที่ต้องชดใช้ แต่จิตใจไม่เป็นอะไร สถานการณ์ก็พลิกผันทำงานหาเงินใช้หนี้ 15 ล้านบาท ได้ภายใน 1 ปี
  • ผู้ฟังอีกท่านหนึ่ง เรียนจบเป็นหนี้ กยศ. และมีหนี้ทางครอบครัวที่ต้องช่วยชดใช้เป็นล้าน จึงประหยัดค่าใช้จ่าย เอาข้าวไปกินที่ทำงาน เดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ ลดสิ่งที่ฟุ่มเฟือย เลือกซื้อสิ่งที่จำเป็นมากกว่าสิ่งที่อยากได้โดยใช้ส่วนลด ทำงานอื่นเพิ่ม ใช้เวลา 2-3 ปี ก็ปลดหนี้ทั้งหมดได้และมีเงินเก็บ

ช่วงปรับตัวแปรแก้สมการ: การแก้ปัญหาทางการเงิน
ในการครองเรือน เงินทองเป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนแปลงปัจจัย 4 ให้เป็นไปได้ ปัญหาทางการเงิน แก้ไม่ได้ด้วยความอยากหรือความตระหนี่ และไม่อาจสำเร็จได้ด้วยการอ้อนวอนขอร้อง

การปฏิบัติตนต่อสถานะทางการเงิน 3 แบบ คือ
แบบที่หนึ่ง : ยามมีเงิน
(1) ต้องแบ่งจ่ายทรัพย์ใน 4 หน้าที่ = เพื่อป้องกันความตระหนี่ คือ 1. ใช้จ่าย 2. เก็บออม 3. สงเคราะห์ 4. ทำบุญ
(2) อย่าเพลิดเพลิน ลุ่มหลง ยินดีพอใจ ในเงินที่มี (ราคะ) = จะเป็นเหตุให้เกิดความยึดถือและความโลภ ซึ่งจะดึงดูดสิ่งเหล่านั้นหรือคนเหล่านั้นเข้ามาในชีวิต เมื่อมีคนโลภเข้ามา ความโลภบังตาก็อาจถูกหลอกได้ ให้พิจารณาเห็นความไม่เที่ยงอยู่เสมอ ได้ลาภ เสื่อมลาภได้ จะป้องกันความโลภที่เกิดขึ้นในจิตใจได้
(3) อย่ามีความตระหนี่ หวงแหน (โมหะ) = จะเป็นเหตุให้เกิดความเศร้าหมองในจิตใจ จะดึงดูดสิ่งเหล่านั้นเข้ามาในชีวิต การประหยัด มัธยัสถ์ เป็นการแบ่งจ่ายทรัพย์ ไม่เหมือนความตระหนี่

แบบที่สอง: ยามไม่มีเงินและเป็นหนี้

  • ไม่อ้อนวอนขอร้องหวังรวยทางลัด เป็นความอยาก ความโลภ จะดึงดูดสิ่งนั้นเข้ามา อาจถูกหลอกได้
  • ให้ตั้งจิตอธิษฐานที่ถูกต้องเพื่อสร้างเหตุ คือ การตั้งใจมั่นอย่างแรงกล้าในการที่จะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่กาย วาจา ใจ ของเราสามารถทำได้ ไม่ใช่การขอผล เช่น ตั้งจิตอธิษฐานให้เรามีปัญญาในการรู้จักแบ่งจ่ายทรัพย์ให้เหมาะสม, ให้เรามีความขยัน มีกำลังใจสูง ไม่ย่อท้อ, ให้เรามีตาในการมองเห็นว่าใครเป็นกัลยาณมิตรหรือปาปมิตร
  • คาถา อุ อะ กา สะ, รู้จักแบ่งจ่ายทรัพย์ 4 หน้าที่, ไม่ใช้จ่ายในสิ่งที่เป็นอบายมุข (ดื่มสุรา ยาเสพติด บุหรี่ การพนัน)
  • จิตใจน้อมไปตามสิ่งที่เราคิด จิตเราน้อมไปทางไหนจะดึงดูดสิ่งนั้นเข้ามา ถ้าตั้งจิตไว้ถูกต้องจะดึงดูดกัลยาณมิตรเข้ามา
  • กายทุกข์หน่อยก็อดทนเอา แต่ให้ตั้งจิตไว้ให้ดี อย่าตามความอยาก (ตัณหา) อย่าโลภ (โลภะ) อย่าตระหนี่ (โมหะ) มองมิตรให้ออกว่าเป็นปาปมิตรหรือกัลยาณมิตร

แบบที่สาม: ยามกลับมามีเงินอีกครั้ง

  • รักษาจิตให้ดีเหมือนเดิม อย่าเพลิดเพลินลุ่มหลงในเงินนั้น อย่าเพลินในความสุข ให้เห็นความไม่เที่ยงในสุขเวทนานั้น ไม่ประมาท
  • ด้วยจิตที่ไม่มีความโลภ ไม่มีความตระหนี่ จะเห็นช่องทางในการหาทรัพย์เพิ่มขึ้นได้
  • เรียนรู้จากความผิดพลาดที่ผ่านมา
  • การเป็นหนี้ด้วยความโลภไม่ดี แต่การกู้เงินด้วยปัญญา รู้จักบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม จะช่วยให้เกิดความก้าวหน้าได้

Tstamp

[01:55] ไต่ตามทาง: ปลดหนี้
[18:10] เถระภาษิต: เรื่อง “ทรงเป็นพระมหามุนี มีพระมหาญาณ”
[19:45] ปรับตัวแปรแก้สมการ: การแก้ปัญหาทางการเงิน
[24:49] ยามมีเงิน
[33:12] ยามไม่มีเงินและเป็นหนี้
[53:40] ยามกลับมามีเงินอีกครั้ง