Q1: เจ้ากรรมนายเวรในที่ทำงาน

A: การกระทบกระทั่งกันระหว่างบุคคลเป็นเรื่องธรรมดาในวัฏฏะสงสาร

“ทำกรรมอย่างไร จะได้รับ ‘กรรม’ อย่างนั้น” เช่น ตบยุง แล้วจะเกิดเป็นยุงโดนตบ-อันนี้ไม่ถูก เป็นมิจฉาทิฏฐิ

“ทำกรรมอย่างไร จะได้รับ ‘ผลของกรรม’ นั้น” เช่น ตบยุง ทำให้มีโรคภัยไข้เจ็บมาก-อันนี้ถูก เป็นสัมมาทิฏฐิ

– ในทางพระพุทธศาสนา กรรมดีมี กรรมชั่วมี การผูกเวรมี แต่ความเป็นเจ้าของไม่มี คำว่า “เจ้ากรรมนายเวร” หมายถึง กรรมไม่ดีกำลังให้ผล เป็นความทุกข์ ความเผ็ดร้อน อยู่ตอนนี้

– เหตุของความสุข ความทุกข์ ไม่ได้เกิดจากกรรมเก่าเพียงอย่างเดียว อาจเกิดจากเหตุอื่นได้ เช่น การถูกทำร้าย สุขภาพร่างกาย สภาพดินฟ้าอากาศ การเตรียมตัวไม่สม่ำเสมอในชาตินี้ ไม่ใช่เรื่องกรรมเก่าจากชาติที่แล้ว

– ในกรณีทุกขเวทนาที่เกิดจากกรรมเก่า มีวิธีแก้โดยการทำความดีให้มากขึ้น แม้ความชั่วที่เคยทำไว้ไม่ได้ลดลง แต่ผลของความชั่วนั้นจะเบาบางลง การทำความดีทำให้เกิดความสบายใจ ความสบายใจนี้ทำให้ความร้อนใจจากกรรมชั่วเบาบางลง เปรียบกับการเจือจางน้ำเค็มจากเกลือด้วยน้ำที่มากขึ้น ปริมาณเกลือเท่าเดิม แต่น้ำที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความเค็มเจือจางลง

Q2: ผลจากการสาปแช่งผู้อื่น

A: การกระทำให้ผลเป็นสุขหรือทุกข์ อุปมาอุปไมยได้ 4 กรณี

1. กินเครื่องดื่มที่หอมหวาน สีสวย รสชาติดี แต่เจือด้วยยาพิษ-ทำไม่ดี ตอนทำได้สุข แต่จะได้รับทุกข์ในภายหลัง

2. กินบวบขม กลิ่นไม่ดี เจือด้วยยาพิษ-ทำไม่ดี ได้ทุกข์ทันที

3. กินยาดองน้ำมูตรเน่า รสขม ฝาด ไม่หวาน แต่กินแล้วจะได้ผลดีภายหลัง หายเจ็บป่วย-ทำดีแต่กลับได้ทุกข์ แต่เมื่อสถานการณ์ผ่านไป จะได้รับสุขในภายหลัง ต้องใช้ความอดทน

4. กินน้ำผึ้งผสมโยเกิร์ตใส่น้ำอ้อย รสชาติดี แก้โรคภัยไข้เจ็บได้-ทำดีแล้วได้สุขทันที

– เมื่อมีคนทำไม่ดีกับเรา หากเราทำความไม่ดีกลับคืนไป เราก็กลายเป็นพวกเดียวกับเขา

– การสาปแช่งให้ผู้อื่นได้ไม่ดี เป็นการผูกเวร เป็นกรรมทั้งทางกายและทางใจ เราได้ความสุขนิดเดียว แต่มีโทษมาก อกุศลกรรมฝังลงในใจเรา

– การถอนการสาปแช่ง ต้องเอาความดีไปชำระล้างความไม่ดี ด้วยการประพฤติพรหมจรรย์ (ทาน ศีล 8 สมาธิ ปัญญา) เพื่อล้างกำจัดชำระความพยาบาท การจองเวร อันมีฐานมาจากโทสะ ซึ่งเป็นกิเลส ยิ่งทำความดีมากขึ้น กิเลสก็จะเบาบางลง เหมือนน้ำที่เพิ่มขึ้น ความเค็มก็จะลดลง

Q3: คนรักพูดทำร้ายจิตใจ

A: ให้ถอนความรักความพอใจในบุคคลนั้น ด้วยการมี “สติ” และใช้ “ปัญญา” ที่แหลมคม ตัดความรักความพอใจนั้นออกไป ด้วยการพิจารณาว่าปัญหาคืออะไร ตัวเราตัวเขาอยู่ตรงไหน เราเจ็บตรงไหน จะพบว่าเจ็บตรงใจ ก็หาเหตุที่เกิดนั้น (ตัณหา อุปาทาน ความยึดถือ) แล้วพิจารณาต่อไปว่า เมื่อตัวเราตัวเขาไม่มีแล้ว ความรักความพอใจในบุคคลนั้นจะมีได้อย่างไร ก็จะละความรักความพอใจนั้นได้ ไม่เจ็บอีก ส่วน “สมาธิ” จะเป็นตัวประสาน ไม่ให้กลับกำเริบอีก ต้องสำรวมอินทรีย์ให้ดี อย่าไปทำสิ่งที่จะทำให้เกิดความรักความพอใจนั้นขึ้นได้อีก

– คำพูดที่ไม่จริง ไม่ถูกกาล หยาบคาย ไม่มีประโยชน์ ประกอบด้วยโทสะ ให้เราทำจิตให้เหมือนแผ่นดิน ต่อให้ใครจะขุดดินให้ไม่เป็นแผ่นดิน ยังไงก็ยังเป็นแผ่นดินอยู่ดี หรือทำจิตให้เหมือนแม่น้ำคงคา ใครจะมาเผาให้น้ำในแม่น้ำเดือด ก็ไม่สามารถทำได้ หรือทำจิตให้เหมือนอากาศ ใครจะเอาสีมาวาดรูปให้เกิดขึ้นในอากาศ ก็จะทำไม่ได้ หากเราทำจิตได้อย่างนี้ ไม่ว่าใครจะด่าว่าชมเชยเรา เราก็จะไม่หวั่นไหวไปตามคำด่าคำชมนั้น

Q4: นั่งสมาธิอย่างไรให้ไม่ทรมาน

A: การนั่งสมาธิเป็นการทำความเพียร ต้องเจอทุกขเวทนาอยู่บ้าง แต่ไม่ใช่การทำทุกรกิริยา แต่เป็นการทำตามสายกลาง เพื่อให้จิตได้รับการฝึก เป็นการอยู่ลำบากแต่เกิดกุศลธรรม และต้องมีสติ มีปัญญา มีการจดจ่อ ถ้าเราตริตรึกไปเรื่องไหน จิตเราก็จะน้อมไปในเรื่องนั้น จิตเราน้อมไปทางไหน สิ่งนั้นจะมีพลัง จึงให้เราตริตรึกไปในช่วงที่เราทำสมาธิได้ อย่าตริตรึกไปในช่วงที่ทำสมาธิไม่ได้ ส่วนที่เราทำสมาธิได้ก็จะมีพลัง


Tstamp

[00:50] เจ้ากรรมนายเวรในที่ทำงาน
[12:30] ผลจากการสาปแช่งผู้อื่น
[29:30] คนรักพูดทำร้ายจิตใจ
[43:35] วิธีนั่งสมาธิให้ไม่ทรมาน