ประชาสัมพันธ์ กิจกรรมขุมทรัพย์แห่งใจ จัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 21 มกราคม 2567 เวลา 09.00 – 12.00 น. ณ หอประชุมกองทัพเรือ ลงทะเบียนได้ที่ http://panya.org/newyear หรือ http://linkdd.co/newyear

หลักธรรมที่นำมาใช้สำหรับการทบทวนตนเองในรอบปี คือ “สัมมาวายามะ” โดยแบ่งเป็น 2 หมวด คือ กุศลธรรม (ความดี) และอกุศลธรรม (ความไม่ดี) ให้ทบทวนดูว่าในรอบปี ตัวเรามีอกุศลธรรม เพิ่ม ลด หรือมีเกิดขึ้นใหม่หรือไม่ เช่น พูดชั่ว คิดชั่ว ทำชั่ว ทำผิดศีล ขี้เกียจ เป็นต้น และทบทวนว่ามีกุศลธรรม เพิ่มขึ้นหรือไม่ การตรวจสอบตัวเองก็ต้องไม่เข้าข้างตัวเอง ถ้าพบว่าตนเองกุศลธรรมไม่เพิ่มแต่มีอกุศลธรรมเพิ่ม ก็ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพราะหากเราทำแบบเดิมแล้วหวังว่าจะได้ผลแบบใหม่ก็จะไม่เป็นอย่างนั้น ถ้าเราหวังจะให้ผลเปลี่ยนแปลงไป ก็ต้องเปลี่ยนวิธีการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การตั้งเป้าหมาย เพื่อนฝูง พฤติกรรมที่เป็นอยู่ เป็นต้น ซึ่งวิธีการ หรือกระบวนการนั้น อยู่ในมรรค 8

การปล่อยวางกับการวางเฉย “การวางเฉย” มาจากคำว่า อุเบกขา อุเบกขา คือ การวางเฉยในสุขเวทนา และทุกขเวทนา เจาะจงลงไปในเรื่องของเวทนาเท่านั้น ส่วน “การปล่อยวาง” มาจากคำว่า วิราคะ (การคลายกำหนัด) การที่วางขันธ์ 5 ได้ทั้งหมด โวสสัคคะ (การสละคืน) หรือ นิโรธ (ความดับ) โดยลำดับขั้นตอนในการปล่อยวางสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ เป็นดังนี้ 1. มีจิตเป็นสมาธิ 2. เกิดปัญญาเห็นสิ่งนั้นตามความเป็นจริง 3. เกิดความเบื่อหน่าย (นิพพิทา) 4. เกิดความคลายกำหนัด (วิราคะ) 5. เกิดการสละคืน (โวสสัคคะ) หรือความดับ (นิโรธ) ความดับเกิดขึ้นได้ก็ เพราะปล่อยวางได้แล้ว การปล่อยวางไม่เหมือนกับ การไม่สนใจ ไม่แยแส ไม่แคร์ ปล่อยทิ้ง ไม่รับผิดชอบ อย่างนี้ไม่ใช่การปล่อยวาง การด่วนปล่อยวางเกินไป เป็นลักษณะของโมหะไม่ใช่การปล่อยวาง

วิธีอยู่ร่วมกับคน Toxic พระพุทธเจ้าเปรียบเทียบไว้เหมือนกับช้างที่ต้องเข้าสู่สนามรบที่ต้องถูกแทงด้วยหอก หลาว ลูกศร ต้องอดอาหาร ต้องอยู่กับเสียงดังอึกทึกครึกโครม ช้าง และทหารจะเข้าสู่สนามรบต้องมีชุดป้องกัน เปรียบเหมือนกับมนุษย์ที่ต้องเข้าสู่สนามของผัสสะ ที่มีหนามเยอะแยะไปหมดเมื่อเข้าไปแล้วจะโดนเกี่ยว โดนทิ่มแทง เป็นอุปมาอุปไมย เมื่อเราเข้าสู่สถานที่ที่มีคนคิดร้ายต่อเรา ด่าว่าเราทั้งต่อหน้า และลับหลัง ทั้งที่บ้าน และที่ทำงาน ซึ่งเราเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องอยู่กับคนประเภทนี้ ปัจจุบันเรียกว่าคน Toxic เมื่อเจอสถานการณ์แบบนี้ ลำดับแรกที่ต้องมี คือ “ความอดทน” และลำดับที่สอง คือ “เมตตาและอุเบกขา” เมื่อเรามีเมตตา และอุเบกขาแล้ว ก็จะดึงเขาออกจากความคิดร้าย ออกจากมิจฉาวาจาได้ อาจต้องใช้เวลา แต่จิตเราจะไม่เป็นอกุศล และสามารถเปลี่ยนศัตรูให้เป็นมิตร เปลี่ยนคนชั่วให้เป็นคนดีได้

วิธีทำทานให้เกิดผล การให้ทานจิตเราต้องมี “ศรัทธา” ทั้งก่อนให้ ขณะให้ และหลังให้ และผู้รับการให้ ต้องเป็นผู้มีราคะ โทสะ โมหะน้อย หรือไม่มีเลย หรือเป็นผู้ที่มีบุญคุณกับเราเช่น พ่อแม่ และรูปแบบการให้ ต้องไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น โดยต้องแบ่งจ่ายทรัพย์เป็น 4 ส่วน ได้แก่ 1. ใช้จ่ายในชีวิต ครัวเรือน 2. เก็บรักษาทำให้งอกเงย 3. สงเคราะห์ผู้อื่น 4. ให้ในเนื้อนาบุญ

ศรัทธากับความงมงาย ต่างกันตรงปัญญา ศรัทธาในพระพุทธศาสนาต้องประกอบด้วยปัญญา ถ้าศรัทธาโดยไม่มีปัญญา นั่นคือความงมงาย ทุกวันนี้คนเรามักศรัทธาโดยไม่มีปัญญาเพราะทำง่ายกว่า หรือบางครั้งก็มีศรัทธาแต่ไปยึดติดที่ตัวบุคคล ดังนั้น ให้เราศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ผลที่เกิดจากศรัทธาที่ประกอบด้วยปัญญา จะเกิดการลงมือทำจริงแน่วแน่จริงทำให้ผลที่ปรารถนาปรากฏขึ้น ส่วนศรัทธาด้วยความงมงาย จะทำให้ไม่เกิดการลงมือทำ ผลที่ปรารถนาก็จะไม่ปรากฎขึ้น ก็จะต้องขอวนไปเรื่อยๆ


Timeline

[01:10] ประชาสัมพันธ์ “กิจกรรมขุมทรัพย์แห่งใจ”
[05:40] ทบทวนตนเองด้วยสัมมาวายามะ
[11:35] การปล่อยวาง VS การวางเฉย
[23:20] วิธีอยู่ร่วมกับคน Toxic
[38:53] วิธีทำทานให้เกิดผล
[44:35] ศรัทธา VS ความงมงาย