สูตร#1 ทันตภูมิสูตร ทรงแสดงแก่สามเณรอจิรวตะ ขณะประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน เขตกรุงราชคฤห์ ทรงปรารภคำกราบทูลของสามเณรเรื่องที่ ชยเสนราชกุมาร (พระโอรสของพระเจ้าพิมพิสาร) ไม่ทรงเชื่อว่าภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียรอุทิศกายและใจอยู่ จะบรรลุเอกัคคตาจิต (สภาวะที่จิตมีอารมณ์เดียว) ได้ 

พระผู้มีพระภาคตรัสกับสามเณรอจิรวตะว่า ชยเสนราชกุมารยังบริโภคกาม จักทรงรู้เห็นสภาวะที่จิตมีอารมณ์เดียวได้อย่างไร เหมือนช้าง ม้า โค ที่ไม่ได้ฝึกก็ ไม่สำเร็จภูมิของสัตว์ที่ฝึกแล้ว เหมือนผู้ยืนอยู่ที่เชิงภูเขามองไม่เห็นสิ่งที่ผู้ยืนอยู่บนยอดภูเขามองเห็น แล้วทรงยกอุปมาขึ้นแสดง 

สูตร#2 ภูมิชสูตร ทรงแสดงแก่ท่านพระภูมิชะ ขณะประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน เขตกรุงราชคฤห์ โดยทรงปรารภคำกราบทูลของท่านพระภูมิชะ เรื่องวาทะของสมณพราหมณ์พวกหนึ่งที่ชยเสนราชกุมารนำมาตรัสถามท่าน ท่านพระภูมิชะกราบทูลว่า ราชกุมารมาตรัสถามท่านว่า พระผู้มีพระภาคทรงเห็นอย่างไรเกี่ยวกับวาทะของสมณพราหมณ์พวกหนึ่งที่ว่า บุคคลจะตั้งความหวัง ไม่ตั้งความหวัง ทั้งตั้งความหวังและไม่ตั้งความหวัง ตั้งความหวังก็มิใช่ ไม่ตั้งความหวังก็มิใช่ แล้วประพฤติพรหมจรรย์ พวกเขาก็จะไม่สามารถบรรลุผลอะไรได้เลย 

ท่านตอบราชกุมารไปว่า ท่านยังมิได้สดับรับฟังมาจากพระองค์โดยตรง แต่คิดว่าพระองค์คงจะตรัสตอบโดยใช้ “ความแยบคายและความไม่แยบคาย“ เป็นเครื่องตัดสิน ราชกุมารจึงตรัสว่า ถ้าพระองค์ตรัสตอบอย่างนั้น ก็จะทรงมีความรู้เหนือสมณพราหมณ์พวกอื่น พระผู้มีพระภาคตรัสรับรองว่า ท่านพระภูมิชะตอบถูกแล้ว จากนั้นทรงอธิบายว่าความแยบคาย หมายถึงอริยมรรคมีองค์ 8 ความไม่แยบคายหมายถึงมิจฉามรรคมีองค์ 8 และทรงยกอุปมาขึ้นมาแสดง

อ่าน “ทันตภูมิสูตร” พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๖ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์

อ่าน “ภูมิชสูตร” พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๖ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์


Timeline

[03:45] พระสูตรว่าด้วย ภูมิของผู้ที่ได้รับการฝึก ทันตภูมิสูตร
[36:12] ภูมิชสูตร พระสูตรว่าด้วยพระภูมิชะ