ปฏิบัติภาวนาด้วยการเจริญธัมมานุสติ

ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราสัมผัสทั้งหมด ทั้งรูป-นาม ล้วนแต่มีเหตุ มีปัจจัย มีเงื่อนไข ต้องอาศัยสิ่งนี้ ต้องอาศัยสิ่งนั้นเกิด เป็นกฏธรรมชาติที่มีอยู่แล้ว จึงมีความเป็น“อนัตตา” ไม่มีตัวตน ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ คือ ความทนอยู่ในสภาพเดิมได้ยาก เกิดทุกข์ที่ทนได้ยาก คือ ความทุกข์ และทุกข์ที่ทนได้ง่าย คือ ความสุข

เหตุของทุกข์ คือ ตัณหา ความทะยานอยาก เมื่อเกิดผัสสะ ก็เกิดเวทนาความรู้สึก ยินดี ยินร้าย และเกิดตัณหา จิตเกิดความอยากมี ความอยากไม่มี จิตจึงเข้าไปยึดถือคืออุปาทานในสิ่งนั้น เกิดทุกข์ลงที่ “ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ” ไม่ได้เกิดที่ไหน จนเราคิดว่าเป็นตัวเรารู้สึกทันที เกิดเป็นภพ เป็นสภาวะ

ผัสสะเกิดที่ไหน จิตอยู่ที่นั่น จิตอยู่ที่ไหน ความทุกข์เกิดที่นั่น ความทุกข์เกิดเพราะ มีความทะยานอยาก ตัณหา มีความยึดมั่นถือมั่น อุปาทานในสิ่งที่เป็นขันธ์ห้าทั้งหมด เกิดเป็นตัวตน คือ สภาวะ สภาวะแห่งการสั่งสม เหตุเกิด เพราะอวิชชา ความไม่รู้ครอบงำจิต เข้าใจว่าทุกสิ่งเป็นอัตตา เป็นสุข เที่ยง จึงเกิดเป็น “สังสารวัฏ” เปรียบเสมือนกรงขังเราอยู่ ที่ไม่รู้เวลาออก ถูกรัดตึงด้วยตัณหา ครอบงำด้วยอวิชชา วนไปวนมานับไม่ถ้วน

พระพุทธเจ้าทรงค้นพบสิ่งที่มีอยู่ ความตั้งอยู่เป็นธรรมดา “ธัมมัฏฐิตตา” ความตั้งอยู่เป็นธรรมชาติ “ธัมมนิยามตา” ความที่เมื่อมีสิ่งนี้ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ๆ จึงเกิดขึ้น “อิทัปปัจจยตา”

พระพุทธเจ้าทรงใคร่ครวญทางพ้นทุกข์ ในธรรมะ คือ สติปัฏฐานสี่ คือ สติสัมโพชฌงค์ หนึ่งในองค์ธรรมตรัสรู้ เกิดสัมมาสติ มีความเพียรคือสัมมาวายามะ ตั้งจิตไว้ในจิตที่ถูกต้องมีสัมมาทิฐิ สัมมาสังกัมปะ ศีลครบก็เกิดสัมมาอาชีวะ สัมมากัมมันตะ สัมมาวาจา จิตเริ่มระงับลงๆ จนเกิดเป็นสัมมาสมาธิ เกิดพร้อม ถึงพร้อมองค์ประกอบอันประเสริฐแปดอย่าง ที่เป็นทางสายกลางไม่แล่นไปสุดโต่งสุขหรือทุกข์ เป็นคำสอนที่เราปฏิบัติได้ มีอยู่ตามธรรมชาติ ปฏิบัติตามเพื่อความถึงพร้อม รู้พร้อม คือ มัชฌิมาปฏิปทา ทางเอกในการเข้าสู่พระนิพพาน


Timeline
[01:19] ปฏิบัติภาวนา ด้วยการเจริญธัมมานุสติ
[02:32] ทุกสิ่งล้วนมีเหตุ มีปัจจัย ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นกฏธรรมชาติที่มีอยู่แล้ว
[09:28] ต้นเหตุและกระบวนการเกิดทุกข์
[25:17] สังสารวัฏ
[31:47] ยึดถือสิ่งใด ทุกข์โทษสิ่งนั้น
[39:26] พิจารณาความเป็นธรรมดา
[42:32] วิญญาณอันแล่นไปตามการระลึก
[47:46] มัชฌิมาปฏิปทา ทางเอกในการเข้าสู่พระนิพพาน