Q1: จากการตอบคำถามเมื่อวันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมา พระอาจารย์เทศน์เกี่ยวกับเรื่อง “มรรคมีองค์แปดเป็นหนทางสู่การดับแห่งการเกิด” และได้กล่าวว่า “แม้มรรคมีองค์แปดนี้ก็ต้องวางลง เพราะยังเป็นสังขตธรรม” จึงขอให้ชี้แจงลงรายละเอียดเพิ่มเติมว่า การวางมรรคลงในเชิงปฏิบัติเป็นอย่างไร?
สิ่งใดก็ตามที่เรารับรู้ได้ผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ไม่ว่าจะเป็นกุศลธรรมหรืออกุศลธรรม ความดีหรือความชั่ว ล้วนมีเหตุปัจจัยในการปรุงแต่งด้วยกันทั้งสิ้น ถือเป็น “สังขตธรรม” อยู่แล้ว โดย มีสังขตลักษณะ 3 อย่างนี้ คือ มีการเกิดปรากฏ, มีการเสื่อมปรากฏ และเมื่อตั้งอยู่ก็มีภาวะอย่างอื่นปรากฏ (ก็คือ ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นั่นเอง) ด้วยความที่มันมีคุณสมบัติเหมือนกันอย่างนี้ เราจึงต้องแยกแยะออกว่ามีคุณมีโทษมากน้อยไม่เท่ากันอย่างไร กิจที่ควรทำก็ต้องแตกต่างกัน
มรรค 8 จึงเป็นยอดของสังขตธรรม เพราะว่าในขณะที่ดำเนินไปตามทางมันระงับตัวมันเองได้ ๆ ระงับลง ๆ จนสามารถถึงความดับลงได้ของราคะ โทสะ และโมหะ ดังนั้นอย่าวางมรรค 8 แต่สิ่งที่ควรวางควรละคืออุปาทาน ละวางความเป็นตัวตน ละวางความยึดถือ เพื่อที่จะเข้าใจขันธ์ 5 ให้ถูกต้อง มรรค 8 ควรทำให้เจริญทำให้มาก ยิ่งต้องรักษาไว้อยู่ตลอด มีการพัฒนาอยู่เนืองนิตย์
“…ก็บุรุษนั้นกระทำอย่างไร จึงจะชื่อว่าทำถูกหน้าที่ในแพนั้น? ในข้อนี้ บุรุษนั้นข้ามไปสู่ฝั่งแล้ว พึงดำริอย่างนี้ว่า แพนี้มีอุปการะแก่เรามากแล เราอาศัยแพนี้ พยายามอยู่ด้วยมือและเท้า จึงข้ามถึงฝั่งได้ โดยสวัสดี ถ้ากระไร เราพึงยกแพนี้ขึ้นวางบนบก หรือให้ลอยอยู่ในน้ำแล้ว พึงหลีกไปตามความปรารถนา…บุรุษนั้นกระทำ อย่างนี้แล จึงจะชื่อว่ากระทำถูกหน้าที่ในแพนั้น แม้ฉันใด. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราแสดงธรรม มีอุปมาด้วยแพ เพื่อต้องการสลัดออก ไม่ใช่เพื่อต้องการยึดถือ ฉันนั้นแล”…ธรรมเปรียบเหมือนแพ
Q2.1: จากรายการธรรมะรับอรุณวันพฤหัสที่ 30 พฤษภาคม 2562 , 6 มิถุนายน 2562 ความเห็นที่ว่า “โลกหน้ามีอยู่ เหล่าสัตว์ผู้ผุดเกิดขึ้นมีอยู่ ผลวิบากของกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่วมีอยู่ฯ” เมื่อพิจารณาตามไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) แล้ว เขียนใหม่ได้ดังนี้หรือไม่ “โลกหน้ามีอยู่หรือไม่ ขึ้นกับเหตุปัจจัย ผุดเกิดมีอยู่ แต่เหล่าสัตว์ผู้ผุดเกิดขึ้นไม่มีอยู่ ผลวิบากของกรรมทำดีทำชั่วมีอยู่ แต่สัตว์ที่รับผลวิบากของกรรมที่ทำดีทำชั่วไม่มีอยู่” เนื่องจากอนัตตาบอกว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน จึงไม่มีสัตว์ จึงไม่มีบุคคล
จากที่ถามมาข้างต้น เราควรจะพูดมาในนัยยะที่มาใน มหาจัตตารีสกสูตร ที่กล่าวว่าสัมมาทิฏฐิมีอยู่ 2 อย่าง คือ ส่วนที่เป็นโลกุตระ เป็นความเห็นที่เป็นไปในระดับเหนือโลก เป็นหนทางแห่งมรรค เป็นไปเพื่อนิพพาน และ ส่วนที่เป็นโลกียะ เป็นความเห็นที่เกี่ยวเนื่องด้วยของหนัก (ขันธ์ห้า) เชื่อว่าโลกอื่นมี สัตว์ผุดเกิดขึ้นมี กรรมดีกรรมชั่วมี ยังเป็นส่วนของอาสวะ ไม่ได้จะเป็นไปเพื่อการบรรลุนิพพาน…ไม่ควรนำเอาสองส่วนมารวมกัน
Q2.2: ผู้ที่ละสักกายทิฏฐิได้ และไม่มีอุปทานประเภทอัตตวาทุปาทาน จะเห็นว่าไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ใช่หรือไม่
ที่สำคัญคือ คุณจะละอุปาทานคือความยึดถือได้ คุณจะละสังโยชน์คือ สักกายทิฏฐิ เป็นต้นได้ คุณต้องปฏิบัติตามมรรค 8 และสิ่งแรกนั้น (องค์นำ) คือ สัมมาทิฏฐิ ไปจนถึงสัมมาสมาธิ ซึ่งคนที่มีความเข้าใจในเรื่อง “อนัตตา” ความเข้าใจในเรื่อง “สมมุติ” และความเข้าใจในเรื่อง “สัจจะ” จะเห็นว่า ไม่มีสัตว์คือผู้ที่จะมาข้อง ไม่บุคคล ไม่มีตัวตน ไม่มีเราเขา แต่เหล่านี้เป็นเพียงสมมุติ เพื่อเรียกให้เกิดความเข้าใจตรงกัน ถ้าเราอยู่เหนือสมมุติ นั้นคือเข้าใจสัจจะทั้งหมด เป็นสภาวะที่ละตัณหา ละอุปาทานได้ ละเครื่องร้อยรัดคือสังโยชน์ได้ทั้งหมด มีความเข้าใจในสัจจะอย่างเต็มที่ แจ่มแจ้งในทุกผัสสะตลอดเวลา นี้คืออริยสัจ
แนะนำรับฟังเพิ่มเติมได้ที่ Playlists: ตามใจท่าน Ep.44 , Ep.33 , คลังพระสูตร Ep.47 , Ep.48 และ Ep.49 , ใต้ร่มโพธิบท Ep.49