Q1:  “ความรู้” ในภาษาบาลี 

“จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้ว เกิดขึ้นในสิ่งทีเรา ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาแต่ก่อน เกิดขึ้นแก่เราว่า นี่คือความจริงอันประเสริฐ …” จากธรรมจักรกัปปวัฒนสูตร

ญาณ คือ ความรู้ ที่พระพุทธเจ้ากล่าวถึงในข้างต้น ต้องเป็นความรู้ที่หัวใจ เป็นความชำนาญที่ไม่ใช่เพียงแค่จำได้ที่สมอง แต่เป็นความชำนาญในระดับที่เป็น ภาวนามยปัญญา

ปัญญาจะต้องเกิดจากญาณ เริ่มต้นมาจากฌานด้วยการฝึกปฏิบัติอยู่เป็นประจำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ สุตมยปัญญา (ปัญญาที่เกิดจากการฟัง การเล่าเรียน และจดจำข้อมูลความรู้มาจากผู้อื่น), จินตมยปัญญา (ปัญญาที่เกิดจากการนำความรู้ที่มีอยู่มาคิดใคร่ครวญ แจกแจงได้), ภาวนามยปัญญา (ปัญญาที่เกิดจากการทำ การปฏิบัติ สามารถแก้ไขปัญหาและพัฒนาต่อยอดมากขึ้น) บุคคลผู้ซึ่งเจริญภาวนาอยู่ ย่อมได้ซึ่งปัญญาคือความรู้เห็นตามที่เป็นจริงได้

Q2: ความหมายของ “smart things” เมื่อเทียบเคียงกลับมาที่ภาษีบาลีได้อย่างไร

เมื่อเปรียบเทียบ 20 ปีที่แล้วกับปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีต่างกันมาก มี Smart เกิดขึ้นมากมาย แต่ถามว่าคนมีความสุขมากขึ้นหรือน้อยลง…เปรียบดังพยับแดด ที่เป็นของปลอมเทียม เป็นภาพลวงตา เพราะไม่ว่าเราจะสร้างสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ มาเพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน แต่มันก็ไม่สามารถขจัดความทุกข์ให้หมดสิ้นไปได้

Q3: เหตุใดบัณฑิตจึงเปรียบกรรมดี ให้ผลเหมือนเงาตามตัว ส่วนกรรมชั่ว มีวิบากกรรมเหมือนรอยล้อแห่งเกวียนตัวนำแอกไป ไว้ต่างกัน

“ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ ถ้าบุคคลมีใจผ่องใสแล้ว พูดอยู่ก็ดี ทำอยู่ก็ดี ความสุขย่อมไปตามเขา เพราะเหตุนั้น เหมือนเงาไปตามตัวฉะนั้น.” 

“ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ, ถ้าบุคคลมีใจร้าย พูดอยู่ก็ดี ทำอยู่ก็ดี, ทุกข์ย่อมไปตามเขา เพราะเหตุนั้น ดุจล้อหมุนไปตามรอยเท้าโค ผู้นำแอกไปอยู่ฉะนั้น.”

บัณฑิตในที่นี้คือ พระพุทธเจ้า ได้ทรงยกอุปมาอุปไมยเปรียบให้เห็นถึงว่าความต่าง ความที่ไม่เหมือนกันในความที่ใจเป็นใหญ่ทั้ง 2 กรณี จึงต้องยกตัวอย่างขึ้นประกอบ เปรียบเทียบให้เห็นในหลายนัยยะ