มรรคแปดเปรียบเสมือนพันธุ์พืชที่ดี เป็นเหตุปัจจัยที่สร้างมาอย่างถูกต้อง จะให้ผลเป็นความหวานและความชุ่มฉ่ำ ซึ่งก็คือ “นิพพาน” นั่นเอง ต้องเริ่มปฏิบัติไปเป็นขั้นตอนตามทางของศีล สมาธิ และปัญญา ไม่สามารถบังคับ ข่มขี่ หรือปรุงแต่งได้ แต่จะเกิดขึ้นได้ตามเวลาที่เหมาะที่ควรตามความแก่กล้าของอินทรีย์ห้าในแต่ละบุคคล
“อุเบกขา” มีและเกิดขึ้นได้ในทุกระดับ เป็นการปล่อยวางกาม ปล่อยวางทั้งสุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา ปล่อยวางทั้งบุญและบาป ซึ่งการปล่อยวางใด ๆ จะสามารถทำให้เกิดขึ้นได้ เราจะต้องเห็นโทษหรือความไม่เที่ยงของสิ่งนั้น ๆ ก่อนว่ามีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้น ดังนั้นต้องทำจิตให้เป็นสมาธิ เพื่อมองเห็นตามความเป็นจริง ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด และสามารถปล่อยวางลงได้ในที่สุด
เราต้องไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต จึงควรหมั่นสร้างบุญด้วยกระบวนการใดกระบวนการหนึ่งตลอดเวลา จะเป็นผลดีกับชีวิตตนเองแน่นอน
Q1: นิพพานไม่เป็นอนัตตา เพราะสามารถบังคับให้ได้นิพพานภายใน 7 วัน ถ้าจะบังคับนิพพานให้เกิดได้ไม่ว่าจะเร็วหรือช้า ต้องทำอย่างไร? บังคับโดยการเจริญอานาปานสติหรือสติปัฏฐานสี่ได้หรือไม่?
นิพพานไม่ใช่การบังคับ ไม่ได้เกิดจากความอยากหรือตัณหา แต่เป็นการสร้างเหตุสร้างปัจจัยของการบรรลุนิพพานด้วยการรักษาศีล ปฏิบัติธรรม ภายใต้กรอบเวลาอันเหมาะสมตามความแก่กล้าของอินทรีย์ห้า ถือเป็นสิ่งที่มีเหตุมีผลของมันและจัดเป็นอนัตตาอีกด้วย
Q2: นิพพานไม่ใช่อนัตตา เพราะไม่มีกุศลและอกุศล ถ้าต้องการให้เกิดนิพพานได้อย่างรวดเร็วต้องอาศัยกุศลแล้วเข้าปฐมฌานใช่หรือไม่?
นิพพานเป็นอนัตตา เพราะอาศัยเหตุปัจจัยในการเกิดดับ แต่เป็นสภาวะดับเย็นและไม่มีการกลับกำเริบอีก ซึ่งต้องอาศัยมรรคหรือกุศลเป็นเส้นทางก้าวข้ามเหนือสิ่งที่เป็นบุญและบาป เพื่อเข้าถึงโลกุตตรปัญญาหรือ “อริยสัจสี่” นั่นเอง
Q3: นิพพานเป็นของคนที่ปฏิบัติในศาสนาพุทธหรือพุทธศาสนิกชนที่ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น คนที่นอกศาสนาพุทธ สัตว์นรก สัตว์เดรัจฉาน เทวดา มาร หรือพรหม ไม่สามารถบังคับให้เกิดนิพพานได้ใช่หรือไม่?
คำสอนของพระพุทธเจ้ามีความละเอียดลึกล้ำลงไปเป็นลำดับขั้นตามหลักของศีล สมาธิ และปัญญา โดยเฉพาะเรื่องของศีลและเมตตาที่จะไม่มีทางคลาดเคลื่อนหรือขัดแย้งกับผู้ใดในโลกได้เลย ดังนั้นคำสอนของพระพุทธเจ้าจึงไม่ได้มีไว้เพื่อแบ่งพรรคแบ่งพวกว่าเป็นคนในศาสนาหรือนอกศาสนา ซึ่งนั่นจะทำให้เกิดทุกข์ แต่เป็นไปเพื่อการดับทุกข์อย่างสนิท
Q4: อุเบกขากับการปล่อยวาง เหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร ต้องปฏิบัติธรรมด้วยวิธีใดบ้างจึงจะไปถึงจุดที่ปล่อยวางได้อย่างหมดจด
อุเบกขาคือ การวางเฉยในจิตใจทั้งความรู้สึกที่เป็นสุข เป็นทุกข์ และที่ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุข ไม่วุ่นวายไปตามเวทนาที่มากระทบ แต่ไม่ใช่เป็นอาการของความไม่ใส่ใจ ไม่แยแสต่อสิ่งใด ๆ รอบตัว
การจะวางอุเบกขาได้มีลำดับขั้นตอนการปฏิบัติดังนี้ ต้องทำจิตให้เป็นสมาธิ พิจารณาตามเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้น มองเห็นตามความเป็นจริง เพื่อให้เกิดความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด และสามารถปล่อยวางลงได้ในที่สุด
Q5: การแผ่เมตตาต่างกันกับการแผ่ส่วนกุศลอย่างไร การเจริญเมตตาตามหลักการที่ถูกต้องและได้ผลควรทำอย่างไร, การตั้งฐานจิตในการแผ่เมตตาให้ได้ผลต้องทำอย่างไร และการแผ่เมตตาได้อานิสงส์ใดบ้าง อีกทั้งเคยได้ยินมาว่าเวลาที่ช่วงชีวิตไม่ดี การงานและชีวิตติดขัดตลอด การสวดมนต์แผ่เมตตาบ่อยๆ จะช่วยได้ใช่หรือไม่?
“การแผ่ส่วนกุศล” คือ การแผ่กระแสจิต ประกาศบุญที่เราได้สร้างเพื่อให้ผู้ที่ได้รับรู้ร่วมอนุโมทนา เปรียบเสมือนการต่อเทียนให้ผู้อื่น เป็นการขยายขอบเขตความสว่างให้กว้างมากยิ่งขึ้น
การแผ่เมตตามีอานิสงส์ทั้งหมด 11 อย่าง ดังต่อไปนี้นี้ หลับเป็นสุข, ตื่นเป็นสุข, ไม่ฝันร้ายด้วยเรื่องที่เป็นไปในทางกาม การพยาบาท เบียดเบียน, เป็นที่รักของพวกมนุษย์, เป็นที่รักของพวกอมนุษย์ รวมถึงสัตว์เดรัจฉาน เปรต อสูรกาย และสิ่งมีชีวิตอื่นๆที่ไม่ใช่มนุษย์, เทพยดารักษา ถือเอาตั้งแต่เทวดาชั้นจาตุมหาราชิกาจนถึงชั้นพรหม, ไฟก็ดี ยาพิษก็ดี หรือศาตราก็ดี ไม่ต้องบุคคลนั้น หมายถึง ไม่สามารถกระทบกระทั่งหรือทำให้เกิดอันตรายได้, จิตตั้งมั่นได้รวดเร็ว สามารถเข้าสมาธิได้ง่าย, สีหน้าผุดผ่อง มีประกายผ่องใส, ไม่หลงใหลทำกาละ กล่าวคือ มีสติสัมปชัญญะครบถ้วนก่อนตาย ไม่โดนโมหะเข้าครอบงำ เมื่อตายแล้วจะไปสู่สุขคติได้, เมื่อยังไม่บรรลุคุณวิเศษที่ยิ่งขึ้นไปย่อมเกิดในพรหมโลก
การเจริญเมตตาจะให้ได้ผลและเป็นไปตามหลักการที่ถูกต้อง จะต้องทำในขณะที่จิตเป็นสมาธิ มีกำลัง และตั้งฐานของจิตอันเป็นไปด้วยกับเมตตา นั่นคือการสร้างอารมณ์หนึ่งที่เต็มไปด้วยความรัก ความเมตตา พร้อมที่จะส่งกระแสออกไปให้กับสรรพสัตว์ทั้งหลายทั่วทุกทาง เสมอหน้า ตลอดโลกทั้งปวง
เวลาที่ช่วงชีวิตไม่ดี การงานและชีวิตติดขัดตลอด การสวดมนต์แผ่เมตตาบ่อย ๆ จะช่วยได้ เป็นการสร้างบุญเพื่อบรรเทาบาปที่กำลังให้ผลในช่วงเวลานั้น ๆ เบาบางลง แต่ไม่ใช่เป็นการแก้ไขสถานการณ์ตามฐานะที่ควรจะเป็น เช่น ภัยทางธรรมชาติ ความเจ็บไข้ได้ป่วย หรือบุคคลอันเป็นที่รักสิ้นอายุขัย เป็นต้น