Q1: การให้ทานในฆราวาสที่เป็นโสดาบันกับนักบวชที่เป็นโสดาบัน ผลอานิสงค์แตกต่างกันอย่างไร

ผู้ถามคำถามมีความสงสัย โดยอ้างอิงมาจาก ทักขิณาวิภังคสูตร ว่าด้วยการจำแนกทานและผลแห่งทาน ซึ่งมีเนื้อหาของ ทักษิณาเป็นปาฏิปุคคลิก 14 (บุคคลที่ควรรับของบูชา)

ซึ่งการทำบุญโดยการให้ทานถือเป็นการสละสิ่งของภายนอกออกไป หากจะทำบุญที่สูงขึ้นมาก็ด้วยการรักษาศีลโดยใช้ตัวเราเป็นตัวทำ อย่างไรก็ตาม การใช้จิตใจเราเป็นตัวทำด้วยการมีสัมมาทิฏฐิ มีเมตตาไม่คิดพยาบาท มีความกรุณาไม่คิดเบียดเบียน สละกิเลสออกไป โดยการปฏิบัติธรรม สร้างความดีให้เข้ามาสู่ในใจ ตั้งสติเอาไว้ ทำกำลังสมาธิให้สูงขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นบุญที่สูงที่สุด สามารถอยู่เหนือบุญเหนือบาปได้ โดยการดำเนินตามอริยมรรคมีองค์แปดเป็นทางสู่พระนิพพานได้ในที่สุด

Q2: จากสุภาษิตที่ว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” ทำให้บางครั้งคนเราก็ไปคิดว่า ทำดีต้องได้ดี ต้องมีคนเห็นความดีของฉัน อันนี้เราจะบอกเขาได้อย่างไรว่าทำดีคือดีแล้ว ไม่ต้อง action ให้ใครเห็นก็ได้ ทำดีแล้วสุขในใจก็เพียงพอ การยึดความดีนั้นว่า นั่นของฉันน่าจะเป็นทุกข์ หรือทำบุญแล้วยึดว่านั่นฉันทำแล้วเห็นสิ ฉันเข้าครอบครองความดีนั้นแล้ว อันนี้จะเห็นกันยากว่านั่นก็ทุกข์เหมือนกัน

  “ฉันทำดี ต้องได้ดี” ในความหมายของปุถุชนทั่ว ๆ ไป ดีแรกนี้ที่เขาหมายถึงกันคือ การให้ทาน การพูดดี ๆ กับผู้อื่น การอดทน เป็นต้น ส่วนดีที่สองที่หมายถึง ก็คือ ฉันต้องได้สุขเวทนา ในรูปแบบที่ว่ารวยขึ้น ได้ยศได้ตำแหน่ง หายเจ็บไข้ได้ป่วย ทุกอย่างในชีวิตต้องราบรื่น และมีพ่วงการที่ต้องให้คนอื่นเห็นความดีของฉัน ซึ่งดีแรกและดีที่สองนี้มีความเข้าใจไม่ตรงกัน จึงทำให้ความตั้งใจความคิดนึก มันผิดพลาดความคลาดเคลื่อนไป ก็จะเกิดทุกข์ขึ้นมาเองที่ไปยึดติดในความดีนั้น

บางที่เราทำดีแรกอาจจะได้ทุกขเวทนา ในที่นี้เราจึงมาทำความเข้าใจตามที่พระพุทธเจ้าได้อธิบายไว้ ต้องมีสัมมาทิฎฐิในส่วนที่ว่า ผลวิบากของกรรมดีมี ผลวิบากของกรรมชั่วมี และผลของกรรมเกิดได้ใน 3 วาระ คือ ให้ผลในปัจจุบัน (ความดีเกิดขึ้นที่ตรงนั้น) ให้ผลในเวลาต่อมา และให้ผลในเวลาต่อ ๆ มา สุขทุกข์ที่เราได้รับก็อาจจะเป็นผลจากการกระทำก่อนหน้านั้น ๆ แต่มาให้ผลในเวลาต่อมา  ขึ้นกับเหตุปัจจัยหลายอย่าง ดังนั้นถ้าจะเตือนหรือจะบอกเขาต้องเริ่มที่ตัวของเราก่อน ทำให้เป็นตัวอย่าง  และที่สำคัญในที่นี้คือ “อย่าเสื่อมศรัทธาในความดี” ทำความดีให้มันเกิดขึ้นอยู่ตลอด ไม่คาดหวังผล แต่ให้มั่นใจในความดี

Q3: สอบถามเกี่ยวกับธรรมะสำหรับเด็ก 8 ขวบ โดยปกติอยู่บ้านก็จะเปิดธรรมะฟัง ลูก ๆ ก็ฟังด้วย แต่ด้วยความเป็นเด็กเวลาไปโรงเรียนก็จะพูดให้เพื่อนฟังเกี่ยวกับบาปบุญคุณโทษตามประสาเด็กฟังธรรมะ แต่ครูประจำชั้นบอกว่า เด็กยังไม่ถึงวัยที่ต้องเรียนรู้เรื่องธรรมะ ในความรู้สึกของคนเป็นแม่ก็เกรงว่าลูกจะรู้สึกสับสน จึงต้องการขอคำแนะนำ

การที่ให้เด็กเรียนรู้ในเรื่องบาปบุญคุณโทษ ตั้งแต่ยังเด็กเป็นสิ่งที่ดีที่ถูกต้อง เรื่องราวบางอย่าง เราก็ต้องให้ข้อมูลแก่เด็ก เช่น การฟังนิทาน ซึ่งในบริบทบางเรื่องเราก็ต้องอธิบายเพิ่มเติม และการสอนธรรมะให้เด็กด้วยการทำให้เด็กดูเป็นแบบอย่าง เป็นสิ่งที่ดีที่สุด

แนะนำรับฟังเพิ่มเติมได้ที่ Playlists: คลังพระสูตร  E09S01 , #กรรม