“ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ที่เจอ ต่างก็เป็นทุกข์เช่นเดียวกัน คนที่เจอสุขแล้วไม่เจอทุกข์ เพลิดเพลินแล้วไปในการเกิด ไม่ทำความเข้าใจให้ดีและถูกต้อง จะยิ่งเป็นโทษมากขึ้นไปอีก แต่ในทางตรงข้าม หากผู้ใดพบเจอแต่ทุกข์มากกว่าสุขแล้วทำความเข้าใจด้วยปัญญาอันแจ่มแจ้งชัดเจน จะสามารถระงับทุกข์ที่เนื่องจากการเกิดนั้นได้อย่างถูกต้อง ซึ่งเราสามารถทำความดับไม่เหลือของการเกิดให้มีได้ โดยการทำความเข้าใจและนำไปปฏิบัติตามหลักอริยมรรคมีองค์แปด”

Q1: “เราเกิดมาทำไม?” และ “ทำไมจึงต้องเกิด?”

“เราเกิดมาทำไม?” ทุกคนต้องหาคำตอบให้กับตนเอง เพราะเกี่ยวเนื่องกับการดำเนินชีวิตและการยังชีพในแต่ละคน ๆ  และ “ทำไมจึงต้องเกิด?”  เพราะความเกิดมันเกี่ยวเนื่องด้วยปฏิจจสมุปบาท (ธรรมที่อาศัยกันและกันแล้วจึงเกิดขึ้น) จะทำความดับไม่ให้เหลือของการเกิดได้ ก็ด้วยการปฏิบัติตามหลักอริยมรรคมีองค์แปด

ในเรื่องของ “ปฏิจจสมุปบาท” ได้อธิบายถึงการเกิดขึ้นพร้อมแห่งธรรมทั้งหลาย เพราะอาศัยกันและกัน การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันและกันจึงเกิดมีขึ้น จากตัวแม่บทที่กล่าวถึงข้างต้นนั่น การเกิดขึ้นของปฏิจจสมุปบาทเมื่ออธิบายตามหลักไวยากรณ์ของภาษาบาลีแล้ว หมายถึงว่าแต่ละคู่สามารถจบในตัวได้เลย โดยที่ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นตามลำดับอย่างต่อเนื่อง เช่น ทุกข์เกิดขึ้นเพราะมีปัจจัย 12 เรื่อง (11 คู่ 12 อาการ) เกิดขึ้นสืบเนื่องกันมาเป็นคู่ ๆ

Q2: ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ แต่ทำไมมีคนทำผิดศีลธรรมกันมากมาย พระสงฆ์จะมีส่วนช่วยสังคมในเรื่องนี้อย่างไรบ้าง

อ้างอิงจาก “สุริยสูตร” และ “อัคคัญญสูตร” พระสูตรว่าด้วยการกำเนิดจักรวาล โลก มนุษย์ และสิ่งต่าง ๆ สิ่งที่สำคัญคือ การควรทุ่มเทปฏิบัติตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่เป็น “สวากขตธรรม” และอย่าให้ความดีมาสุดจบที่ตัวเราด้วยการเป็นเครื่องมือของมาร ถูกควบคุมบังคับด้วยกิเลสมาร (ราคะ โทสะ โมหะ)

Q3: คนที่ทุ่มเทกับการอ่านพระไตรปิฎกมากๆ อาจจะวันละหลายชั่วโมง แต่ไม่ทุ่มเทกับการปฏิบัติภาวนาเลย จัดว่าการอ่านเเบบนี้ไม่มีประโยชน์พอๆ กับการอ่านหนังสือที่ก่อให้เกิดอกุศลธรรมหรือไม่? 

หากเปรียบเทียบการอ่านพระไตรปิฎกมาก ๆ แล้ว ก็ยังมีความดีมากกว่ากิจกรรมอื่นที่เนื่องด้วยกาม แต่หากต้องการให้เกิดประโยชน์สูงสุดที่ก่อให้เกิดกุศลธรรม ก็ควรจะอ่านพระไตรปิฎกด้วยการใส่ใจทำจิตให้สงบ เข้าใจธรรมในเรื่องที่ทรงจำได้ รู้ซึ้งถึงซึ่งธรรมนั้น สามารถใคร่ครวญธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ตั้งตนไว้ในธรรมนั้นได้ จนจิตเป็นสมาธิ เห็นความไม่เที่ยง สามารถปล่อยวางได้ในที่สุด

“เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะความเกิดขึ้นแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ย่อมไม่มี เพราะความดับไปแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงดับไป”

แนะนำรับฟังเพิ่มเติมได้ที่ Playlists: ใต้ร่มโพธิบท E07S29 , คลังพระสูตร E08S63 , ตามใจท่าน E09S42 , #ปฏิบัติดีให้ถูกตามสวากขตธรรม