อินทรีย์ 5 มีลักษณะการไหลไปตามลำดับแห่งธรรม โดยการเริ่มจากการทำจริง แน่วแน่จริง มีความเชื่อ ความลงใจ ความมั่นใจจนเกิดเป็น ศรัทธา ขึ้นมาได้ และการมีศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถือว่าเป็นกำลังใจสำคัญในการปฏิบัติ จนเกิดเป็น วิริยะ (มีความเพียรที่เหมาะสม) และส่งผลให้เกิดเป็น สติ (การระลึกได้ที่ถูกต้อง) เมื่อตั้งสติได้อย่างมั่นคงจะทำให้จิตเป็น สมาธิ (จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว) และเกิดเป็น ปัญญา (เห็นตามความเป็นจริง) ในที่สุด 

เมื่อเริ่มต้นการปฏิบัติจากจุดเล็ก ๆ โดยมีปัญญาเป็นยอดที่ผ่องใส เมื่อพัฒนาต่อ ๆ ไป จนปัญญากว้างขวางขึ้น แข็งแรงขึ้น เข้มแข็งขึ้น ก็จะส่งเสริมให้ฐานอื่น ๆ มั่นคงมากยิ่งขึ้นตามลำดับเช่นกัน ซึ่งจะเห็นได้ว่า ปัญญาก็ยังเป็นยอดอยู่เหมือนเดิม และหากปัญญามีความบริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิงแล้ว จะทำให้ละ ราคะ โทสะ โมหะ และอวิชชาลงได้ 

หลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบเป็นอันดับแรกคือ “ฉันทะ” คือ การที่มีความพอใจที่จะทำที่จะค้นหานิยาม ความหมาย และรายละเอียดของอริยสัจสี่ ดังที่พระอานนท์ได้เคยกล่าวไว้ว่า “เป็นลักษณะของการเจริญฉันทะเพื่อละฉันทะ” ด้วยการเจริญมรรคแปด เร่งทำความเพียร ปฏิบัติไปตามลำดับขั้น และในขณะเดียวกันก็ทำให้ฉันทะลดลงไปเรื่อย ๆ เกิดเป็นสัมมาวายามะที่เพิ่มมากขึ้น แต่ตัณหาลดน้อยลง จนสามารถดับกิเลสได้หมดในที่สุด 

หนึ่งในคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทาหรือทางสายกลาง เป็นความเห็นที่ไม่แล่นดิ่งไปสุดโต่งสองด้านคือ “อนัตตา” ได้กล่าวถึง สิ่งที่ต้องอาศัยเหตุ อาศัยปัจจัยจึงเกิดขึ้น หากเหตุปัจจัยดับลง ความมีอยู่เป็นอยู่ก็จะดับไปด้วย ซึ่งองค์ประกอบของทางนั้น ประกอบด้วย สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ 

ดังนั้นการปฏิบัติตามหลักอริยมรรคมีองค์แปด จะทำให้ลด ละ อุปาทานความยึดถือได้เป็นไปตามลำดับ สามารถกำจัดความเห็นที่แล่นดิ่งไปสุดโต่งสองด้านได้


Timeline
[02:57] อินทรีย์ห้ามีลักษณะการไหลไปตามลำดับแห่งธรรม จำเป็นหรือไม่ที่ปัญญินทรีย์จะเต็มบริบูรณ์ถึงพร้อม ต้องไล่เลียงจากการที่สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ และสมาธินทรีย์ถึงพร้อมก่อน
[06:27] ในธรรมทั้งหลายมีปัญญาเป็นอันดับสูงสุด
[15:21] เหตุผลที่พุทธศาสนาสอนให้คนไม่ควรมีอัตตา พร้อมทั้งวิธีหรือขั้นตอนในการลดละอัตตา และการป้องกันไม่ให้อัตตาเข้ามามีอํานาจในชีวิต
[17:04] วิริยะหรือความเพียร เป็นคนละเรื่องกับตัณหาหรือความทะยานอยาก
[18:24] คนเรามักจะมีความเห็นแล่นดิ่งไปสุดโต่งสองด้านคือ ความเห็นว่าสิ่งทั้งปวงมีอยู่(อัตถิตา) หรือความเห็นว่าสิ่งทั้งปวงไม่มีอยู่(นัตถิตา)
[22:13] สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนคือ “อนัตตา”
[27:04] วิธีหรือขั้นตอนในการลดละอัตตาคือ การปฏิบัติตามหลักอริยมรรคมีองค์แปด
[42:47] การบรรลุนิพพานของศาสนาพุทธคือ การไม่มีอวิชชา(ความไม่เข้าใจธรรมชาติของโลก) ใช่หรือไม่ หากเราเข้าใจธรรมชาติของโลก(ไตรลักษณ์) เราจะบรรลุได้หรือไม่
[46:14] อริยสัจสี่ (Nobel truths) มีความเกี่ยวข้องกับไตรลักษณ์ใช่หรือไม่
[52:37] การดับทุกข์ในอริยสัจสี่(มรรค) กับ การดับอวิชชา คืออันเดียวกันใช่หรือไม่
[54:33] พระพุทธเจ้าค้นพบหลักอะไรเป็นอันดับแรก คือไตรลักษณ์ใช่หรือไม่