Q : ขณะใส่บาตรควรยืนหรือนั่งจึงจะเหมาะสม?A : ขึ้นอยู่กับจิตศรัทธาของผู้ให้ ที่ให้ด้วยความเคารพ โดยไม่ยึดติดพิธีกรรมว่าแบบนี้เท่านั้นแบบอื่นไม่ได้

Q : การอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้วายชนม์ ควรทำระหว่างหรือหลังใส่บาตร?A : บุญ เกิดตั้งแต่ ก่อนให้ ระหว่างให้และหลังให้ แค่คิดว่าเราจะทำก็เป็นบุญแล้ว เพราะจิตเรามีความสุข ที่สำคัญต้องมี “มโนกรรม” คือ ต้องตั้งจิตเอาไว้ว่าจะให้ คิดด้วยจิตที่เป็นสมาธิ ยิ่งมีสมาธิมาก ยิ่งส่งได้ไกลและทำโดยไม่สงสัยว่าบุญที่ทำจะถึงหรือไม่

Q : การที่นำปัจจัยใส่ซองทำบุญแล้วเขียนชื่อญาติที่ล่วงลับ ให้พระช่วยแผ่บุญ แผ่ส่วนกุศลให้ แบบนี้ทำได้หรือไม่ ?่A : การที่เราระลึกถึงบรรพบุรุษ แล้วเราทำบุญอุทิศให้ท่าน เป็นหน้าที่ของลูกหลาน ที่ต้องทำอยู่แล้ว การทำบุญในนามของท่าน ก็คือ อุทิศให้ท่าน

Q : ทำบุญแล้วต้องกรวดน้ำที่โคนต้นไม้ใหญ่ บุญจึงจะถึง แบบนี้ใช่หรือไม่?A : การทำบุญ ต้องมี “มโนกรรม” มาก่อน ส่วนพิธีกรรม สามารถทำได้ภายหลัง / การกรวดน้ำ (กายกรรม) การเอ่ยชื่อ (วจีกรรม) คือ หากไม่มีจิตที่เป็นบุญ (มโนกรรม) บุญย่อมไม่ถึง

Q : การถวายสังฆทาน ที่เวียนไป เวียนมา เราควรตั้งจิตอย่างไร บุญจึงจะไม่เศร้าหมอง?A : การถวายสังฆทาน คือ การถวายสิ่งของที่ควรแก่สมณะจะบริโภค ให้แก่ภิกษุสงฆ์โดยไม่เฉพาะเจาะจง ให้เราตั้งจิตด้วยดีว่า เราจะถวายแด่สงฆ์โดยมีของสิ่งนี้เป็นตัวแทน และมีพระที่ท่านนั่งอยู่เป็นประธานตัวแทนสงฆ์ โดยระมัดระวังอย่าให้เกิดอกุศลในจิตของเรา

Q : เมื่อทำบุญแล้วโพสต์ให้ผู้อื่นอนุโมทนาบุญด้วย ผู้ที่อนุโมทนาบุญด้วยสามารถรับบุญได้หรือไม่?A : ความดีเกิดขึ้นที่จิต เราเห็นคนอื่นทำความดีแล้วเราดีใจด้วย ความรู้สึกดีใจนั่นแหละ คือ บุญ เห็นเขาทำเราก็อยากทำ เป็นการส่งความดีต่อ ๆ กัน เหมือนการต่อเทียน

Q : ความขุ่นเคืองใจ ที่กลิ่นควัน/สุนัขเพื่อนบ้าน เข้ามาในบ้าน คือการโกรธหรือไม่ มีโทษอย่างไร?A: ในเรื่องนี้ มีลำดับขั้นการทำงานของโทสะอยู่ เรียงจากโทษมากไปหาน้อย พยาบาท โทสะ โกธะ ปฏิฆะ (ขัดเคือง) อรติ (ไม่พอใจ) กรณีของคุณย่า พอเราตั้งความพอใจว่าในบ้านเรา อย่างอื่น อย่าเข้ามารบกวน พอเข้ามา ก็จะไม่พอใจและถ้าเผลอสติ มันจะเลื่อนขึ้นไปเป็นความขัดเคือง ว่าทำไมเค้าทำแบบนี้ พอเลื่อนขั้นขึ้นมา แสดงว่าเราต้องเผลอสติแล้ว เพราะถ้ามีสติ มันจะไม่เลื่อนขึ้นมาเป็นความขัดเคือง พอสะสมความขัดเคืองแล้วเราตั้งสติ ไม่พอ มันก็จะเลื่อนขึ้นมาเป็น “โกธะ” หากเราไม่กำจัดอาการนี้ออกไป มันก็จะเติบโตขึ้น สะสมต่อไป กลายเป็น “โทสะ” หากยังสติไม่พอ ยับยั้งไม่ได้อีกจะเริ่มเป็น ”พยาบาท”กรณีของคุณย่า พอมีความขัดเคือง แล้วพยายามยับยั้ง ไม่ให้เลื่อนไปเป็นความโกรธ นี่คือ ใช้เทคนิค”ลิ่มสลักอันน้อยมางัดลิ่มสลักอันใหญ่” งัดอกุศลกรรมออกไป อย่าไปคิดไม่ดีกับเขา ไม่ให้ไปถึงโทสะ อย่าให้จิตใจเราวุ่นวายไปจนถึงโกธะ ให้หยุดที่ขัดเคืองก็พอ