ขุดเพชรจากพระไตรปิฎก พระอุรุเวลกัสสปเถระ (พระไตรปิฎกเล่มที่ 20 พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ 12: อังคุตตรนิกาย เอกกนิบาต เอตทัคควรรค ข้อที่ 224 )
ประวัติความเป็นมาและบุพกรรมในชาติก่อน, การแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ของพระพุทธเจ้าถึง 13 วาระเพื่อปรับแก้ทิฏฐิ, การบรรลุธรรม และความเป็นเอตทัคคะ
พระอุรุเวลกัสสปเถระ เอตทัคคะในทางผู้มีบริวารมาก
“พระอุรุเวลกัสสปเถระ” เกิดในตระกูลพราหมณ์ชื่อ กัสสปะ มีน้องชาย 2 คน ชื่อ นทีกัสสปะ และ คยากัสสปะ ซึ่งแต่ละคนมีชื่อเรียกตั้งตามชื่อตำบลที่ตั้งอาศรมอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตามลำดับกัน พี่ชายคนโตนั้นมีบริวาร 500 คน, คนกลางมีบริเวร 300 คน ส่วนคนเล็กสุดท้ายมีบริวาร 200 คน ทั้งสามพร้อมบริเวร 1,000 คน บวชเป็นฤาษีชฎิลบำเพ็ญพรตบูชาไฟ
ครั้นเมื่อมีพระรัตนตรัยครบเป็นองค์ 3 คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ขึ้นแล้ว นับได้ว่าเป็นการประกาศพระพุทธศาสนาในครั้งแรก หลังจากนั้นพระพุทธเจ้าพร้อมพระอรหันตสาวก 60 รูปได้แยกย้ายกันออกเดินทางเพื่อประกาศพระศาสนาโดยโดยไม่ให้ไปทางเดียวกันสองรูป แม้พระองค์เองก็จะเดินทางไปยังตำบลอุรุเวลาเพื่อโปรดชฏิล 3 พี่น้อง
ในขณะที่มาถึงตำบลอุรุเวลาได้ขอพักยังอาศรมของอุรุเวลกัสสปะ แต่อุรุเวลกัสสปะเห็นว่าเป็นนักบวชต่างลัทธิ จึงบ่ายเบี่ยงว่าไม่มีสถานที่ให้พัก พระพุทธเจ้าจึงขอพักอาศัยอยู่ในโรงไฟซึ่งเป็นที่บูชายัญและมีพญานาคดุร้ายอาศัยอยู่ อุรุเวลกัสสปะจึงไม่ขัดข้อง นี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นการปรับแก้ทิฏฐิของอุรุเวลกัสสปะที่ถือตนเองว่าเป็นพระอรหันต์ โดยพระพุทธเจ้าทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ถึง 13 วาระด้วยกันพร้อมทั้งบอกถึงความที่ปฏิปทาของอุรุเวลกัสสปะนั้นยังไม่ใช่ปฏิปทาที่จะเป็นไปเพื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ อุรุเวลกัสสปะได้เกิดความสลดสังเวชขึ้นเป็นอย่างยิ่งจึงขอออกบวช เมื่อเห็นพี่ชายใหญ่ผู้เป็นหัวหน้าออกบวช น้องชายทั้งสองพร้อมบริวารทั้งหลายก็ขอออกบวชตาม
ณ ตำบลคยาสีสะ พระพุทธเจ้าได้เรียกประชุมหมู่ภิกษุชฎิลเหล่านั้น 1,003 รูป แล้วทรงแสดงพระธรรมเทศนา “อาทิตตปริยายสูตร” เปรียบเทียบ สิ่งทั้งปวงเป็นของร้อนดุจเดียวกับไฟ เพื่อให้เหมาะสมกับอัธยาศัยของพวกปุราณชฎิลที่เคยบูชาไฟมาก่อน โดยมีใจความสำคัญดังนี้
“เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายได้สัมผัส และใจกระทบอารมณ์ แล้วเกิดวิญญาณคือการรับรู้ทาง ตาหู จมูก ลิ้น กาย และใจ ทั้ง 3 อย่างอาศัยกันและกันจึงเกิดเป็นผัสสะ ทำให้เกิดเวทนาตามมา ทั้งที่เป็นสุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง ซึ่งสิ่งต่าง ๆ นี้เป็นของร้อน
ร้อนเพราะไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ ร้อนเพราะความเกิด ความแก่ และความตาย ร้อนเพราะความโศก เพราะความรำพัน เพราะทุกข์กาย เพราะทุกข์ใจ เพราะความคับแค้น
เมื่อเห็นโทษแห่งของร้อนทั้งปวงจึงเบื่อหน่ายกับการเข้าไปยึดมั่นถือมั่นทั้งที่ยินดีพอใจและยินร้ายอันเป็นเหตุให้เร่าร้อนใจอยู่เป็นเนืองนิตย์ เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เพราะความคลายกำหนัด จึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมเกิดญาณหยั่งรู้ว่า ‘หลุดพ้นแล้ว’ เธอย่อมรู้ชัดว่า ‘การเกิดสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นที่จะต้องทำเพื่ออาการเป็นอย่างนี้ไม่ได้มีอีก”
เหล่าภิกษุชฎิลส่งกระแสจิตใคร่ครวญตามธรรมเทศนานั้น ทั้งหมดล้วนได้บรรลุพระอรหันต์
เพราะด้วยความที่พระอุรุเวลกัสสปะเป็นผู้ประกอบด้วยพรหมวิหารธรรม จึงทำให้สามารถยึดเหนี่ยวจิตใจบริวารไว้ได้ เป็นที่รักเคารพของบริวาร และก็เป็นพุทธสาวกรูปเดียวที่มีบริวารมากที่สุด เนื่องจากภิกษุผู้บริวารพันหนึ่งของพระอุรุเวลกัสสปะเหล่านั้น ได้ช่วยประกาศพระศาสนาต่อ โดยแต่ละพันรูปก็บวชให้อีกพันรูป ก็เป็นสองพัน แต่ละสองพันก็ขยายต่อ ๆ ไปอีกเป็นจำนวนมาก พระพุทธองค์จึงทรงยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุสาวกทั้งหลายในทางผู้มีบริวารมาก
แนะนำรับฟังเพิ่มเติมได้ที่ Playlists: คลังพระสูตร Ep.55