“อดทน” ไม่ใช่ “เก็บกด” ที่เก็บอกุศลธรรมเอาไว้ แต่อดทนเป็นการใช้ปัญญาไม่ให้อกุศลธรรมเกิดขึ้น

ผู้ตระหนี่ เปรียบเสมือนอยู่ในนรก ผู้ที่ละได้แล้ว ย่อมเบาสบายเหมือนดำรงบนสรวงสวรรค์

กุลูปกสูตร #ข้อ111 ภิกษุผู้เข้าไปสู่ตระกูล มีคุณสมบัติ 5 ประเภทนี้ จะยังความศรัทธาให้เกิดขึ้น คิอ ไม่แสดงอาการคุ้นเคยกับผู้ที่ยังไม่คุ้นเคย ไม่แทรกแซงอำนาจ ไม่คบตระกูลที่แตกแยกกัน ไม่พูดกระซิบที่หู ไม่ขอมากเกินไป และในทางตรงข้ามกันกับกล่าวมาแล้วนี้ จะทำให้ไม่เป็นที่พอใจ ที่เคารพ

ปัจฉาสมณสูตร #ข้อ112 คุณสมบัติของภิกษุผู้เป็นปัจฉาสมณะ (พระผู้ติดตาม) คือ เดินไม่ห่างนัก ไม่ใกล้นัก รับบาตรหรือของในบาตร (คอยอำนวยความสะดวก) เมื่อพูดเกี่ยวกับสิ่งไม่ดีต้องคอยห้ามกัน ไม่ควรพูดแทรกขึ้น มีปัญญา รู้ความเหมาะสม เป็นผู้ควรพาไปด้วย

สัมมาสมาธิสูตร #ข้อ113 ธรรมผู้เข้าสู่สัมมาสมาธิ คือ อดทนต่อ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จะทำให้เข้าสู่สมาธิได้ง่าย และทางตรงข้ามกัน ถ้าไม่อดทน จิตใจจะถูกดึงไปกระทบตามอายตนะต่างๆ เข้าสมาธิได้ลำบาก

อันธกวินทสูตร #ข้อ114 คุณธรรมสำหรับพระใหม่ ให้ตั้งมั่นอยู่ในธรรมได้ คือ มีศีลเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ และอภิสมาจาร (มรรยาทที่ดีงาม) สำรวมอินทรีย์ พูดให้น้อย ให้มีที่จบ อาศัยเสนาสนะอันสงัด (กายวิเวก) มีสัมมาทัสสนะ (ความเห็นชอบ)

มัจฉรินีสูตร #ข้อ115 ถ้ามีความตระหนี่ 3 นัยยะนี้ คือ ตนเองมีแต่ไม่ให้ ไม่มีและไม่อยากให้ผู้อื่นมี ตนเองมีดีแต่ไม่อยากให้ผู้อื่นมีดีกว่า ในที่อยู่ ตระกูล (ญาติโยม) ลาภ (ปัจจัย 4) วรรณะ (ศีล) ธรรม ย่อมอยู่ไม่เป็นสุข แต่ถ้าไม่มีความตระหนี่ย่อมอยู่ผาสุก

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต อันธกวินทวรรค