สืบเนื่องจากเอพิโสดที่แล้ว ได้นำเสนอประวัติความเป็นมาของนางวิสาขามหาอุบาสิกา มาถึงเมื่อนางได้แต่งงานเข้ามาอยู่ในเรือนของสามี เกิดมีปัญหากับพ่อสามีจนถูกไล่ออกจากเรือน ลูกสะใภ้จะชนะใจพ่อสามีโดยธรรมได้อย่างไร และจะมีเรื่องราวใดเกิดขึ้นต่อจากนี้ รับฟังกันได้ในเอพิโสดนี้

นางวิสาขาชนะความพ่อผัว                              

เศรษฐี. ท่านทั้งหลาย แม้ในเรื่องนี้จะไม่มีโทษ ก็ช่างเถอะ, แต่ว่า บิดาของนางวิสาขานี้ เมื่อกล่าวสอนนางวิสาขานี้ ในเวลาจะมาที่นี้ ได้ให้โอวาท ๑๐ ข้อ ซึ่งลี้ลับปิดบัง, เราไม่ทราบเนื้อความแห่งโอวาทนั้น, นางจงบอกเนื้อความแห่งโอวาทนั้นแก่เรา; ก็บิดาของนางนี้ได้บอกว่า ‘ไฟใน ไม่พึงนำออกไปภายนอก’ พวกเราอาจหรือหนอ? เพื่อจะไม่ให้ไฟแก่เรือนคุ้นเคยทั้งสองฝ่ายแล้วอยู่ได้

กุฎุมพี. ทราบว่าอย่างนั้นหรือ? แม่.

วิสาขา. พ่อทั้งหลาย คุณพ่อของดิฉันมิได้พูดหมายความดังนั้น, แต่ได้พูดหมายความดังนี้ว่า ‘แม่ เจ้าเห็นโทษของแม่ผัว พ่อผัว และสามีของเจ้าแล้ว อย่าเฝ้ากล่าว ณ ภายนอก คือในเรือนนั้นๆ, เพราะว่า ขึ้นชื่อว่าไฟ เช่นกับไฟชนิดนี้ ย่อมไม่มี.

เศรษฐี. ท่านทั้งหลาย ข้อนั้นยกไว้ก่อน, ก็บิดาของนางวิสาขานี้กล่าวว่า ‘ไฟแต่ภายนอก ไม่พึงให้เข้าไปภายใน’, พวกเราอาจเพื่อจะไม่ไปนำไฟมาจากภายนอกหรือ? ในเมื่อไฟใน (เรือน) ดับ.              

กุฎุมพี. ทราบว่าอย่างนั้นหรือ? แม่.

วิสาขา. พ่อทั้งหลาย คุณพ่อของดิฉัน ไม่ได้พูดหมายความดังนั้น, แต่ได้พูดหมายความดังนี้ว่า ‘ถ้าหญิงหรือชายทั้งหลาย ในบ้านใกล้เรือนเคียงของเจ้า พูดถึงโทษของแม่ผัว พ่อผัว และสามี, เจ้าอย่านำเอาคำที่ชนพวกนั้นพูดแล้ว มาพูดอีกว่า ‘คนชื่อโน้นพูดยกโทษอย่างนี้ของท่านทั้งหลาย’ เพราะขึ้นชื่อว่าไฟ เช่นกับไฟนั่น ย่อมไม่มี.

นางวิสาขาได้พ้นโทษ เพราะเหตุนี้อย่างนี้. ก็นางพ้นโทษในเพราะเหตุนี้ฉันใด, แม้ในคำที่เหลือ นางก็ได้พ้นโทษฉันนั้นเหมือนกัน.

อธิบายข้อโอวาทอื่น อย่างนี้ว่า                              
คำว่า “แม่ เจ้าควรให้แก่ชนทั้งหลายที่ให้เท่านั้น” หมายความว่า “ควรให้ แก่คนที่ถือเครื่องอุปกรณ์ที่ยืมไปแล้ว ส่งคืนเท่านั้น.”
คำว่า “ไม่ควรให้แก่คนที่ไม่ให้” หมายความว่า “ไม่ควรให้แก่ผู้ที่ถือเอาเครื่องอุปกรณ์ที่ยืมไปแล้ว ไม่ส่งคืน.”
คำว่า “ควรให้แก่คนทั้งที่ให้ทั้งที่ไม่ให้” หมายความว่า “เมื่อญาติและมิตรยากจนมาถึงแล้ว, ชนเหล่านั้น อาจจะใช้คืน หรือไม่อาจก็ตาม, ให้แก่ญาติและมิตรเหล่านั้นนั่นแหละ ควร.”
คำว่า “พึงนั่งเป็นสุข” หมายความว่า “การนั่งในที่ ๆ เห็นแม่ผัวพ่อผัวและสามีแล้วต้องลุกขึ้น ไม่ควร.”
คำว่า “พึงบริโภคเป็นสุข” หมายความว่า “การไม่บริโภคก่อนแม่ผัวพ่อผัวและสามี เลี้ยงดูท่านเหล่านั้น รู้สิ่งที่ท่านเหล่านั้น ทุกๆ คนได้แล้วหรือยังไม่ได้ แล้วตนเองบริโภคทีหลัง จึงควร.”
คำว่า “พึงนอนเป็นสุข” หมายความว่า “ไม่พึงขึ้นที่นอน นอนก่อนแม่ผัวพ่อผัวและสามี, ควรทำวัตรปฏิบัติที่ตนควรทำแก่ท่านเหล่านั้นแล้ว ตนเองนอนทีหลัง จึงควร.”
คำว่า “พึงบำเรอไฟ” หมายความว่า “การเห็นทั้งแม่ผัวพ่อผัวทั้งสามี ให้เป็นเหมือนกองไฟและเหมือนพระยานาค จึงควร.”
และคำว่า “พึงนอบน้อมเทวดาภายใน”  หมายความว่า “การเห็นแม่ผัวพ่อผัวและสามี ให้เป็นเหมือนเทวดา จึงสมควร.”

แนะนำรับฟังเพิ่มเติมได้ที่ Playlists: นิทานพรรณนา S02E03 , ขุดเพชรในพระไตรปิฏก S02E06