รายละเอียดของภัยในอนาคตทั้ง 5
ความสัมพันธ์ระหว่างความเข้าใจ การยอมรับ และความยึดถือในทุกข์ทั้งหลาย
ความหมายของ “ผู้ที่ผาสุกอยู่ได้” และการที่จะสามารถเป็นผู้ที่ผาสุกอยู่ได้ต้องปฏิบัติตนอย่างไร
พระพุทธเจ้าทรงเตือนถึงภัยในอนาคตที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตเราทุกคน เมื่อเห็นอยู่แล้วควรแท้ที่จะเป็นผู้ไม่ประมาท โดยควรจะลงมือจะทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อรับมือกับมัน ซึ่งภัยในอนาคตมีทั้งหมด 5 ประการ ดังนี้
ภัยจากความแก่ สังขารถดถอย และความตาย
ภัยจากความเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่มีกำลังต้องมีคนช่วยพยุงเดิน
ภัยจากข้าวปลาอาหารขาดแคลน หรือข้าวยากหมากแพง
ภัยจากโจรป่ากำเริบ
ภัยจากหมู่สงฆ์แตกแยกกัน
การยอมรับความทุกข์ได้มากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับระดับความเข้าใจในทุกข์นั้นมากหรือน้อยเช่นกัน ทั้งนี้จะส่งผลกับความยึดถือด้วย เช่น มีความเข้าใจในทุกข์มาก ความยึดถือในชีวิตจะน้อย เมื่อภัยในอนาคตเกิดขึ้นก็จะทำให้เรายอมรับได้ และทำให้ความผาสุกมีมากขึ้นด้วยเช่นกัน
การเตรียมตัวแก่ก่อนแก่ ตายก่อนตาย หรือเกษียณก่อนเกษียณ ควรต้องเตรียมตัวในวันนี้ที่จะเข้าใจและยอมรับในทุกข์ที่เกิดจากภัยในอนาคตซึ่งเป็นเทวฑูตที่คอยมาเตือนสติเรา เพื่อเป็นผู้ที่ผาสุกอยู่ได้ กล่าวคือ ไม่เป็นผู้ที่วุ่นวาย ร่ำไห้ คร่ำครวญ ทุบอกชกตัวถึงความเป็นผู้งุนงงคลั่งเพ้อ กระฟัดกระเฟียด กระด้างกระเดื่อง แสดงความโกรธ ความขัดเคือง ความไม่พอใจให้ปรากฏ ไม่สามารถดำรงจิตให้เป็นกลางได้
เมื่อมีการเบียดเบียนเป็นวงกว้างแล้ว สถานที่ใดปลอดภัยและอาหารหาง่าย ผู้คนโดยส่วนใหญ่ก็จะอพยพไปยังที่นั้นและแออัดมากขึ้น ทำให้อาหารหายาก ทุพภิกขภัยเกิดขึ้น การอยู่คลุกคลีปะปนกันในหมู่ชนจะมีมากขึ้น และการที่จะรักษาจิต กระทำในใจโดยแยบคาย หรือปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าและท่านผู้รู้ทั้งหลายก็จะทำได้ยากหรือไม่สามารถทำได้สะดวกเลย ทำให้เข้าใจความทุกข์ได้น้อย เกิดความเครียดและมีปัญหาในที่สุด
การที่จะสามารถเป็นผู้ที่ผาสุกอยู่ได้นั้น ต้องปฏิบัติตามหลักอริยมรรคมีองค์แปด ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงตรัสถึงอริยมรรคมีองค์แปดว่าเป็น “ภาวิตา” ซึ่งหมายถึง ทักษะที่เกิดจากการปฏิบัติ ฝึกไปเรื่อยๆอย่างสม่ำเสมอ เริ่มจากการควบคุมใจ วาจาและกาย ต้องมีสติรักษาจิต และพัฒนาให้เกิดสิ่งที่ดีตามรายละเอียดดังนี้
ทางกาย โดยการรักษาศีลห้าเป็นเบื้องต้น ทำมาหาเลี้ยงชีพอย่างสุจริต ไม่เบียดเบียนผู้อื่น
ทางวาจา โดยการรักษาสัมมาวาจา คือไม่พูดคำหยาบ โกหก เพ้อเจ้อ ส่อเสียด หรือยุยงให้แตกกัน
ทางใจ โดยการรักษาสัมมาสติ เพื่อความคิดที่ไม่เป็นไปในทางกาม พยาบาท และเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น
“เมื่อจิตติตรึกไปในเรื่องใดๆ มาก จิตจะน้อมไปด้วยอาการอย่างนั้นๆ” จะทำให้สิ่งนั้นมีพลังและมีอำนาจเหนือจิต ดังนั้นการพัฒนาให้ ”เป็นผู้ที่ผาสุกอยู่ได้” ในระดับที่ดียิ่งๆขึ้นไปนั้น ต้องเริ่มจากมีสติ คิดไปในเรื่องดีๆ เป็นไปในทางกุศลธรรม ระลึกถึงองค์ธรรมในอนุสสติสิบอย่าง ทำให้สติตั้งขึ้น สติมีกำลังมากขึ้น จนสติรักษาจิต เมื่อจิตมีกำลังมากขึ้น จะทำให้จิตรวมลง ระงับลง เพ่งดิ่งต่ออารมณ์อันเดียว ซึ่งจะทำให้ความผาสุกมากขึ้นด้วยตามลำดับ
ผู้ที่ใฝ่ดีและมีประสบการณ์ในชีวิตการทำงานมาพอสมควรแล้ว ถือว่ามีพื้นฐานในการปฏิบัติบ้างแล้ว เพียงแต่ต้องเพิ่มเติมในส่วนของฉันทะ(ความสนใจ ความพอใจ) และความศรัทธา(ความตั้งมั่น) ในการปฏิบัติตามหลักอริยมรรคมีองค์แปด เพื่อสิ่งที่ดีกว่า มีค่ากว่าวัตถุกามซึ่งควรค่าแก่การปฏิบัติ ทำความระงับ ละการเสพกาม ทำความผาสุกที่ลึกซึ้งยิ่งกว่าให้เกิดขึ้น บรรลุถึงสามัญญผลของจิตที่มีบุญกุศล มีสมาธิ และปัญญา