“พุทโธ ธัมโม สังโฆ จึงเป็นอย่างเดียวกัน อยู่ในกายของเรา อยู่ในใจของเรา มีการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบปฏิบัติตรงมาตามทางได้ก็ด้วยกายด้วยใจของเรานี้”
ความลึกซึ้งในอริยสัจจุดสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจ ที่จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามลำดับขั้น เพื่อจะทำให้มีความรู้คือญาณในอริยสัจสี่เกิดขึ้นมาได้ว่า
สัจจญาณ คือ ปัญญาที่รอบรู้ความจริงในอริยสัจทั้ง 4 (รู้ว่า นี่คือทุกข์, นี่คือเหตุแห่งทุกข์, นี่คือความดับไม่เหลือซึ่งเหตุแห่งทุกข์, นี่คือทางแห่งความดับไม่เหลือซึ่งเหตุแห่งทุกข์)
กิจญาณ คือ ปัญญาที่รู้กิจที่ควรทำในอริยสัจ 4 (รู้ว่า ทุกข์ ควรกำหนดรู้ , สมุทัย (ตัณหา) เป็นสิ่งที่ควรละ, นิโรธ ควรทำให้แจ้ง และมรรค ควรทำให้มาก ควรเจริญให้มาก)
กตญาณ คือ ปัญญาที่รู้แจ้งในกิจที่ควรทำในอริยสัจ 4 ได้ทำสำเร็จแล้ว
ในรอบแรก เราต้องรอบรู้ในความจริงในอริยสัจทั้ง 4 แยกแยะให้ได้ ต้องรู้ดูมองให้เห็น สิ่งที่เราต้องเข้าใจต่อไปคือ หน้าที่ที่ควรทำในแต่ละข้อนั้นต่างกัน ต้องทำให้ถูกต้อง ในรอบที่ 2 นี้ จึงสำคัญในเรื่องของมรรคที่จะต้องมีการปรับสมดุลในข้อปฏิบัติของเราอยู่เสมอ ๆ
และในคำสอนที่เป็น “มัชฌิมาปฏิปทา” นี้ มีเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดจบอยู่ จบลงตรงที่ตัณหามันหมดแล้ว ตัณหาหมดลงตรงไหน นั้นคือจบตรงนั้น อวิชชาดับเมื่อไหร่ ความสว่างเกิดขึ้นตรงนั้น ความหมุนวนมันจะถูกตัดขาดออก เหมือนได้มาถึงที่หมายแล้ว
“…สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่นาน ๆ จะเกิดมาสักครั้งหนึ่ง เป็นเฉพาะพิเศษ ๆ วาระที่เฉพาะเจาะจงแล้วเท่านั้น เราอย่าพลาด! ให้คว้าโอกาสนี้ไว้เลย วาระนี้มีแค่ครั้งเดียว ชีวิตนี้เราเกิดมาแค่ครั้งเดียว เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคราวหน้าชีวิตหน้า เราจะได้เกิดหรือเกิดมาเป็นอะไร เราเกิดมาชาตินี้มีโอกาสครั้งเดียว อย่าไปคิดไกล ทุ่มเลย ถ้าเรารู้ว่าวาระนี้มีครั้งเดียว ในบท 4 คือ อริยสัจสี่นี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ให้ได้ว่ามันต้องทำให้มีการรอบรู้ มีการละ มีการทำให้แจ้ง มีการทำให้เจริญ จะเอาอะไรแลกเพื่อให้ได้ธรรม 4 อย่างนี้มา
…ในเวลาที่เหลืออยู่นี้รับประกันให้ได้โดยพระพุทธเจ้าว่า “ถ้าแลกธรรมบท 4 นี้มาด้วยหนัง เอ็น กระดูก เนื้อและเลือด ได้เป็นพระอรหันต์ในปัจจุบันนี้แน่ หรืออย่างน้อยก็ได้เป็นอนาคามี…ไม่ต้องต่อรอง ต้องการอะไรให้หมด จากข้างนอกคือหนัง เข้าไปถึงข้างในเป็นเนื้อและเลือด เข้าไปจนถึงกระดูก ไม่ได้จะสนใจเรื่องพวกนี้ แต่ให้สนใจดูว่า จะทำอย่างไรให้ทุกข์เรารอบรู้แล้วได้, จะทำอย่างไรให้สมุทัยคือตัณหา เราละให้มันได้, จะทำอย่างไรให้นิโรธ คือ ตัณหาที่มันดับลงได้ ทำให้มันแจ้งขึ้นมา และจะทำอย่างไรให้เราทรงไว้ซึ่งมรรค 8 ให้ได้ตลอด เอาชาตินี้ล่ะ ท่านรับประกันไว้ให้แล้ว จะรออะไร หนทางมีอยู่ ปฏิปทามีอยู่ ที่ถ้าเราปฏิบัติแล้วเราจะรู้เห็นได้ด้วยตัวเอง.
กีฏาคิริสูตร
[๒๓๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บทสี่อันยืนยันได้ที่เรายกขึ้นแสดงแล้ว อันวิญญูบุรุษ จะพึงรู้เนื้อความได้ด้วยปัญญาไม่นานเลย มีอยู่ เราจักแสดงแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจักรู้ ทั่วถึงเนื้อความแห่งบทสี่อันยืนยันได้ ที่เรายกขึ้นแสดงแล้วนั้น. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกไหนเป็นข้าพระองค์ทั้งหลาย และพวกไหนจะเป็นผู้รู้ทั่วถึงธรรมได้?
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ศาสดาใดเป็นผู้หนักในอามิส รับมรดกแต่ส่วนที่เป็นอามิส ข้องอยู่ด้วยอามิส แม้ศาสดานั้นย่อมไม่มีคุณสมบัติเหมือนดังของตลาด ซึ่งมีราคาขึ้น ๆ ลง ๆ เห็นปานนี้ว่า ก็เมื่อเหตุอย่างนี้พึงมีแก่เรา เราพึงทำเหตุนั้น ก็เมื่อเหตุอย่างนี้ไม่พึงมีแก่เรา เราไม่พึงทำเหตุนั้น ดังนี้.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทำไมเล่า ตถาคตจึงไม่ข้องด้วยอามิสโดยประการ ทั้งปวงอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สภาพนี้ย่อมมีแก่สาวก ผู้มีศรัทธา ผู้หยั่งลงในคำสอนของ พระศาสดาแล้วประพฤติด้วยตั้งใจว่า พระผู้มีพระภาคเป็นพระศาสดา เราเป็นสาวก พระผู้มีพระภาคย่อมทรงรู้ เราไม่รู้. คำสอนของพระศาสดาย่อมงอกงามมีโอชาแก่สาวกผู้มีศรัทธา ผู้หยั่งลงในคำสอนของพระศาสดาแล้วประพฤติ. สภาพนี้ ย่อมมีแก่สาวกผู้มีศรัทธาผู้หยั่งลงใน คำสอนของพระศาสดาแล้วประพฤติ ด้วยตั้งใจว่า “เนื้อและเลือดในสรีระของเราจงเหือดแห้ง ไปจะเหลืออยู่แต่หนังเอ็นและกระดูกก็ตามที เมื่อเรายังไม่บรรลุถึงอิฐผลที่จะพึงบรรลุด้วย เรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วยความบากบั่นของบุรุษแล้ว จักคลายความเพียร นั้นเสีย จักไม่มีเลย.”
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผลสองอย่างคือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อขันธบัญจกที่กรรมกิเลสเข้าไปยึดถือเป็นส่วนเหลือยังมีอยู่ ความเป็นพระอนาคามีอย่างใดอย่างหนึ่ง อันสาวกผู้มีศรัทธา ผู้หยั่งลงในคำสอนของพระศาสดาแล้วประพฤติ พึงหวังได้.
แนะนำรับฟังเพิ่มเติมได้ที่ Playlists: เข้าใจทำ (ธรรม) Ep.36, Ep.34, ใต้ร่มโพธิบท Ep.56