ไม่ว่าการงานประเภทไหนก็ตาม ถ้าเราทำไปด้วยความอยาก ที่เขาเรียกกันว่า แพชชั่น (Passion) ซึ่งความอยากนี้ มันมีกับดักของมัน ถ้าเราตกลงไปในกับดักของความอยากแล้ว เราพลาดเลย ในเอพิโสดนี้ จึงมาทำความเข้าใจประเด็นในเรื่องนี้กัน

ความอยากและความกลัว ที่เป็นสุดโต่ง 2 ทางนั้น มันคอยดักเราไว้ทั้ง 2 ด้าน แต่ก็จะมีตรงกลาง ที่เป็นทางรอด เป็นทางสายกลางให้ดำเนินไปได้ เป็นช่องที่จะไม่ให้เราติดกับดักของความอยาก คือตัณหา คือปัญหา ที่จะทำให้เกิดความยึดถือ ที่เมื่อเพ่งจดจ่อลงไป มันจะเกิดเป็นมิจฉาสมาธิ ก่อให้เกิดความเผลอเพลินไป เป็นความไม่รู้ เป็นอวิชชา และเมื่อมีตัณหา มีอวิชชาพอกพูนกัน มันไม่รู้จักอิ่มไม่รู้จักพอ

จึงต้องเริ่มด้วย “ฉันทะ” คือ ความพอใจ เป็นช่องที่ถ้ามาถูกทางแล้ว จะทำให้เกิดความเพียร ไม่มากไม่น้อยเกินไป เพราะถ้ามากเกินไปก็จะกลายเป็นตัณหา และถ้าน้อยเกินไปก็จัดเป็นตัณหาอีกแบบหนึ่ง มันจะหลุดไปสุดโต่ง 2 ข้าง จึงต้องทำให้มันตรง ๆ ทรงอยู่ได้ ตั้งอยู่ได้ เป็นสมาธิ พอเรามีสมาธิด้วยฉันทะ มีความเพียรที่พอดี และเมื่อทำอะไรด้วยความยึดถือที่ลดลงแล้ว มันจะมีช่องให้กุศลคือปัญญาเพิ่มขึ้นได้ จะมีความพอใจ รู้จักอิ่มรู้จักพอได้ เกิดความสบายใจในจุดนั้น สามารถทำให้เราเป็นผู้ที่ดำเนินชีวิตไปได้ด้วยธรรมะ

การเจริญอิทธิบาท 4 ที่มีองค์ประกอบ 3 อย่าง คือ ธรรมเครื่องปรุงแต่ง ในที่นี้คือการงาน เป้าหมายชีวิต แล้วมีสมาธิจดจ่อเพ่งเอาไว้ให้ดี ตั้งไว้ซึ่งอิทธิบาท 4 (ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา) ในแต่ละข้อ เป็นปธานกิจ จะสร้างสมดุลกัน ให้ตั้งอยู่และดำเนินไปตามทางสายกลาง ด้วยศรัทธา ด้วยปัญญา การงานไม่ว่าจะงานใหญ่งานยากก็สำเร็จได้ ให้มีศรัทธามีความมั่นใจในเหตุที่ดี ถ้าเราต้องการผลนี้ ให้มันสำเร็จเป็นธรรมเครื่องปรุงแต่งอย่างนี้ ๆ คุณต้องสร้างเหตุอย่างไร ๆ ให้มั่นใจในเรื่องของเหตุเรื่องของผล นี้คือสิ่งที่คุณมั่นใจในธรรมะ

แนะนำรับฟังเพิ่มเติมได้ที่ Playlists: นิทานพรรณนา S02E30 , #แก้ขี้เกียจด้วยเจริญอิทธิบาทอย่างถูกต้อง , #ทิศทั้งหก          

#2021-1u0232