ในความที่เป็นผู้ป่วยขั้นสุดท้ายหรือป่วยเป็นโรคที่รักษาไม่หาย ก็ตาม สิ่งที่หวังนั้น ไม่ได้หวังที่จะหาย แต่หวังที่จะทำอย่างไรให้จิตใจยังผาสุกอยู่ได้แม้ยามเจ็บป่วยไข้เช่นนี้ ก่อนอื่นจึงต้องมาทำความเข้าใจให้ถูกต้องในประเด็นต่อไปนี้

การเป็น “ผู้ป่วยระยะสุดท้าย” ไม่ใช่ว่าจะให้คุณหมดกำลังใจ หมดอาลัยตายอยาก แต่คำนี้ในทางการแพทย์ คือ การเปลี่ยนเป้าหมายการรักษา จากที่จะรักษาให้หาย ก็เปลี่ยนแผนการรักษาให้อย่างน้อยผู้ป่วยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ตั้งแต่ตอนที่อยู่ไปจนกว่าจะสิ้นลมหายใจ โดยรักษาไปตามอาการ เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดให้ลดลงได้บ้าง ยืดชีวิตไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หรือท้ายที่สุดให้ตายไปอย่างสงบ

แต่ประเด็นสำคัญในที่นี้ ก็คือ “ป่วยกายแล้ว อย่าให้ป่วยใจ” เราจึงต้องรักษาใจไว้ ด้วยการมีกาย วาจา และใจ อันเป็นสุจริต โดยเริ่มจากรักษาศีลและเจริญพรหมวิหารไว้ให้ดี ทำจิตใจให้สบาย เป็นผู้ป่วยที่ให้สามารถดูแลได้ง่าย และเป็นผู้มีความผาสุกในปัจจุบัน ซึ่งในบางครั้งบางคราวที่เรามีกำลังใจสูง ให้หาช่องทางสักจุดหนึ่งจุดหนึ่งที่จะมาระลึกนึกถึงบุญกุศลตรงนี้ให้ได้ 

ร่างกายของเรานี้ มันคร่ำคร่า รักษาไม่หายแล้ว เปรียบเหมือนหม้อดินที่ทั้งเก่าและแตกหัก พระพุทธเจ้าตรัสไว้ถึง “ธรรมะ 5 ข้อ”ที่ถ้าผู้เจ็บป่วยไข้พิจารณาอยู่เนื่อง ๆ แล้ว จะทำให้เป็นผู้มีอินทรีย์แก่กล้า สามารถปล่อยวางได้ ไม่เข้าไปยึดถือในสิ่งต่าง ๆ ไปจนถึงสามารถทำให้แจ้งได้ ซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติชนิดที่หาอาสวะไม่ได้ ในเวลาไม่นาน  ดังนั้น เราจึงไม่ต้องกลัวตายเลย เพราะการตายครั้งนี้ จะทำให้เรารอดพ้นจากความตายที่เป็นอเนกชาติได้ เป็นความตายที่อยู่เหนือความตาย เป็นอมตะ เป็นการตายที่มีเกียรติ คุ้มค่า ไม่สูญเปล่า มีชีวิตอยู่ก็มีค่า อีกไม่นานที่จะตาย ก็ให้มีคุณค่าในชีวิตที่เราเหลืออยู่

แนะนำรับฟังเพิ่มเติมได้ที่ Playlists: สมการชีวิต S02E31 , S01E02 , เข้าใจทำ (ธรรม) S08E33 , S08E26 , #รู้ตายจึงพ้นตาย

#2023-1u0234