“เธออย่าได้กล่าวคำหยาบกับใคร ๆ, ชนเหล่าอื่นถูกเธอว่าแล้ว จะพึงว่าตอบเธอ, เพราะว่าถ้อยคำแข่งดีเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ การทำร้ายตอบพึงถูกต้องเธอ, ถ้าเธอไม่ยังตนให้หวั่นไหวดุจกังสดาลถูกตัดขอบปากแล้ว เธอนี้จะเป็นผู้ถึงพระนิพพาน, ความแข่งดีย่อมไม่มีแก่เธอ”…พระคาถาจากนิทานธรรมบทเรื่อง พระโกณฑธานเถระ  (ผู้มีรูปสตรีติดตามไปทุกแห่ง)

“ผู้ใดรู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลายโดยประการทั้งปวง เราเรียกผู้นั้น ซึ่งไม่ติดข้อง เป็นผู้ไปดี เป็นผู้รู้แล้วว่าเป็นพราหมณ์ เทวดา คนธรรพ์ และหมู่มนุษย์ไม่รู้คติของผู้ใด เราเรียกผู้นั้น ซึ่งมีอาสวะสิ้นแล้ว ผู้ไกลกิเลสว่า เป็นพราหมณ์”…พระคาถาจากนิทานธรรมบทเรื่อง พระวังคีสะเถระ (ผู้บวชเพื่อเรียนพุทธมนต์)

เพิ่มเติมส่วนความรู้ประกอบในเรื่องของ การออกบวชของพระนันทะและพระราหุล ที่มาในนิทานธรรมบทเรื่อง พระนันทเถระ (ผู้มีอัตภาพเป็นเช่นเรือนที่เขามุงดีแล้ว)

จากนิทานธรรมบททั้ง 3 เรื่องนี้ ได้ยกประวัติความเป็นมา บุพกรรมในอดีต และการบรรลุธรรมของภิกษุ 3 รูปที่ได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นเลิศในคุณนั้น ๆ ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้จะนำไปเป็นความรู้ประกอบการศึกษาในช่วงขุดเพชรจากพระไตรปิฎกที่กำลังไล่เรียงเนื้อหาไปตามข้อ ในอังคุตตรนิกาย เอตทัคควรรค

ประเด็นในที่นี้คือ เรื่องราวนิทานธรรมบทแบบนี้ เป็นเรื่องราวประกอบ เมื่อฟังแล้วให้นำมาเปรียบเทียบส่วนเหมือนส่วนต่าง ทำความเข้าใจ นำมาเชื่อมโยงประกอบกันเข้าตรงจุดนั้นจุดนี้ ความรู้ของเราจะมีความกว้างขวางออกไป ความเข้าใจก็จะมีมากขึ้นลึกซึ้งลงไป สามารถที่จะเข้าใจถึงบริบทหรือในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้มากขึ้น