ช่วงไต่ตามทาง:

– ผู้ฟังท่านนี้ เมื่อตอนเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยคณะวิศวะ มีรุ่นน้องคนหนึ่งสัญญากับแม่ไว้ว่าจะไม่ดื่มเหล้า แต่ถูกรุ่นพี่บอกให้ดื่มเหล้าเพื่อเป็นการให้เกียรติรุ่นพี่ รุ่นน้องคนนี้มีหิริโอตัปปะ ละอายต่อแม่ จึงเอาตัวรอดโดยการต่อรองขอเป็นคนชงเหล้าให้รุ่นพี่ และดื่มเครื่องดื่มอื่นที่ไม่ใช่เหล้าแทน เหตุการณ์ก็ผ่านไปได้ด้วยดี รุ่นน้องก็อยู่ในสังคมได้

ช่วงปรับตัวแปรแก้สมการ:

– ทำกรรมอย่างไร ย่อมได้รับผลของกรรมนั้น ซึ่งจะให้ผลออกมาเป็นความสุขหรือความทุกข์ การทำดีโดยอยากได้ความดีตอบ อันนี้เป็นความอยาก ส่วนการทำความดีโดยไม่ได้หวังสุขเวทนา แต่ทำไปเพื่อกำจัดความอยาก ความตระหนี่ อันนี้เป็นปัญญา

– คำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นคำสอนที่ประกอบด้วย “ปัญญา” ต้องพิจารณาโดยแยบคาย ใคร่ครวญให้ลึกซึ้ง ดังนี้

(1) พิจารณาให้ได้ว่าการทำอะไรก็ตาม ให้หวังเอา “ปัญญา” ไม่ใช่หวังเอา “เวทนา”–การทำอะไรก็ตาม อย่าไปหวังให้สุขเวทนาเกิด ไม่อยากให้ทุกขเวทนาเกิด เพราะเป็นตัณหา (ความอยาก) ส่วนการทำอะไรแล้วได้ปัญญา ปัญญาจะเป็นตัวตัดความตระหนี่และความเข้าใจผิด ๆ ว่าทำอะไรแล้วจะต้องได้รับสุขเวทนา

(2) พิจารณาให้ได้ระหว่าง “ตัณหา” (ความอยาก) กับ “ฉันทะ” (ความพอใจ)–การทำอะไรด้วยความอยากเป็นสิ่งไม่ดี แต่การทำด้วยความเพียร ด้วยฉันทะ ความพอใจ ตั้งจิตไว้อย่างแน่วแน่ เป็นหนึ่งในองค์ของอิทธิบาทสี่ ธรรมะแห่งความสำเร็จ

(3) พิจารณาให้ได้ว่า การเอาความดีมาอ้างเพื่อทำความชั่ว เป็นสิ่งไม่ดี เช่น พระเทวทัต ทำความดีเพื่อหวังลาภสักการะ, การพูดความจริงแต่เป็นการเสียดสีผู้อื่นทำให้เขาเสียใจ เป็นต้น หรือ บางคนไม่มีความดีบังหน้าแต่มีความดีซ่อนเอาไว้ เช่น พระปิลินทวัจฉะ ชอบเรียกคนอื่นว่าคนถ่อย แต่จริงแล้วท่านเป็นพระอรหันต์ที่มีเทวดารัก

(4) พิจารณาไปตลอด ไม่ใช่เพียงช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง เพราะดีกลับเป็นไม่ดีได้ และไม่ดีอาจกลับเป็นดีในตอนหลังได้

– โดยสรุป การใช้ปัญญาพิจารณาโดยแยบคาย ใคร่ครวญให้ลึกซึ้ง ไม่มองผิวเผิน และไม่มองเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งแต่ดูไปตลอด เป็นไปเพื่อไม่ให้อาสวะเกิดขึ้นที่จิตของเรา ให้พิจารณามาที่ตัวเราว่า ตัวเรามีกิจอะไรที่ต้องทำ ที่ต้องละ ต้องทำกิจของมรรค 8 ละสิ่งที่เป็นอกุศล ทำสิ่งที่เป็นกุศล เราจะดีหรือไม่ดี ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคำพูดของใคร แต่อยู่ที่ตัวเรา เราจึงต้องพึ่งตน พึ่งธรรม โดยใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญโดยแยบคายในลักษณะที่ไม่ให้อาสวะเกิดขึ้น ด้วยการฟังธรรม การศึกษาธรรม ปัญญาก็จะแจ่มแจ้งขึ้น


Tstamp

[04:25] ช่วงไต่ตามทาง: ถูกบังคับให้ดื่มเหล้า
[09:20] พุทธภาษิต เรื่อง “ทรงจบเวทแล้ว จึงคู่ควรรับของบูชา”
[11:10] ช่วงปรับตัวแปรแก้สมการ
[39:30] พึ่งตน พึ่งธรรม ด้วยการใช้ปัญญา