Q1: บุญจากการนั่งสมาธิ

A: แต่ละคนมองเห็นคุณค่าของของแต่ละอย่างไม่เท่ากัน และสิ่งใดสิ่งหนึ่งจะมีค่า ขึ้นอยู่กับเวลา สถานการณ์ และเงื่อนไขต่าง ๆ ส่วนความเห็นของใครจะถูกหรือผิด ขึ้นอยู่กับประโยชน์มากหรือน้อย การนั่งสมาธิทำให้จิตมีความสงบ เกิดความสุขจากในภายใน ก็จะได้บุญมากกว่า เพราะวัดจากความสุขและประโยชน์ที่เกิดขึ้น

– ประโยชน์จากการนั่งสมาธิ 4 ประการ

1) คนอื่นเอาไปจากเราไม่ได้ = ไม่เป็นสาธารณะกับคนอื่น

2) ยิ่งใช้ยิ่งเพิ่ม = การนั่งสมาธิ แผ่เมตตา ไม่มีจำกัด

3) ประโยชน์ที่จะเกิดในเวลาต่อๆ ไป = เมื่อจิตเป็นสมาธิ ทุกข์ที่ตามมามีน้อย เห็นทางออกของปัญหา ทำให้ตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ได้ดีขึ้น เทียบกับการอิ่มท้อง ซึ่งยังมีทุกข์อยู่ ต้องไปถ่ายออก มีทุกข์ตามต่อมาอีก

4) ทำให้ถึงนิพพานได้ = เมื่อจิตเป็นสมาธิ เห็นทางออก ปฏิบัติตามมรรค ปล่อยวาง เห็นความไม่เที่ยง จิตสว่าง หลุดพ้น ซึ่งประโยชน์ข้อนี้มีมาก ทั้งในเวลาปัจจุบันและในเวลาต่อมา ๆ อีก

– โดยสรุป บุญจากการให้ทาน ได้อยู่ แต่ได้น้อย เมื่อเทียบกับการรักษาศีล เจริญภาวนา ที่เกิดประโยชน์ 4 ข้อ ข้างต้น อันเป็นความเห็นของพระพุทธเจ้า เป็นความเห็นของคนฉลาด การที่เราฟังคนฉลาดที่ทำมาแล้ว พิสูจน์มาแล้วว่ามีประโยชน์อย่างนี้ เราก็ต้องพิสูจน์ว่าเกิดประโยชน์เช่นนั้นจริงหรือไม่ ด้วยการนั่งสมาธิทำจิตให้สงบเป็นสมาธิ ซึ่งเป็นประโยชน์ที่เราจะเห็นได้ด้วยตัวเอง

Q2: บุญจากการให้ทาน VS บุญจากการนั่งสมาธิ

A: การให้ทานที่ต่อชีวิตผู้อื่น เช่น การใส่บาตร ต้องให้ทุกวัน ไม่จบ ให้แล้วยังต้องให้อีก ประโยชน์จึงเกิดขึ้นแค่วันเดียว แต่การนั่งสมาธิ เมื่อจิตสงบเป็นสมาธิแล้ว ตัวเราได้ชื่อว่ารักษาคนอื่น ทั้งทางกาย วาจา ใจ เพราะจะไม่เบียดเบียน มีเมตตา อดทน มีความรักให้กัน ไม่คิดประทุษร้าย

– ใจเป็นหลัก ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน – ถ้าจิตเราดี วาจากับการกระทำก็จะดีไปด้วย

– การให้ทาน (ทางกาย) และการนั่งสมาธิ (ทางใจ) สามารถไปด้วยกันได้ เช่น พระอรหันต์ ต้องกำจัดกิเลสออกให้หมด เป็นเรื่องสภาวะจิต แต่ถ้าไม่ได้ให้ทานมาก่อน ก็จะมีลาภสักการะน้อย ส่วนพระอรหันต์ที่เคยให้ทานมามากในกาลก่อน ก็จะมีลาภสักการะมาก

Q3: การทำบุญโดยการปล่อยสัตว์น้ำ

A: พระพุทธเจ้าเน้นว่า การไม่ฆ่า = เจตนาไม่ทำลายชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงไป การซื้อและการขายสัตว์เป็น เป็นอาชีพที่ไม่ควรทำ และเป็นกิจที่ไม่ควรทำของอุบาสก อุบาสิกา

– วงจรของบาปจากการฆ่าสัตว์ 1) ลงมือฆ่าเอง 2) สั่งให้ผู้อื่นฆ่า 3) ชักชวนให้ผู้อื่นฆ่า

– การไปซื้อเนื้อสัตว์ที่ตลาด เป็นการส่งเสริมการเบียดเบียน ส่งเสริมให้ฆ่า เข้าลักษณะชักชวนให้ผู้อื่นฆ่า อยู่ในวงจรของบาปจากการฆ่าสัตว์แล้ว ควรหลีกเลี่ยง การซื้อปลาหน้าเขียงเพื่อช่วยสัตว์ให้พ้นจากความตายเฉพาะหน้า เป็นการผิดหลักการข้างต้น

– ให้พัฒนาจิตของเรา ให้หลุดออกจากวงจรของสังสารวัฏที่มีโทษของวัฏฏะ ทำให้ต้องเบียดเบียนกัน ให้ทำสมาธิ ปล่อยวาง บรรลุนิพพาน หรือบรรลุเป็นพระอริยบุคคลขั้นใดขั้นหนึ่งให้ได้ เพื่อลดปริมาณการเบียดเบียนให้ได้มากที่สุด

Q4: E-donation

A: ความง่ายกับความสะดวกในการทำบุญไม่เหมือนกัน การทำบุญ (การให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา) มีความง่ายมาแต่เดิม ไม่ต้องเตรียมการอะไรให้ยุ่งยาก ส่วนสมัยนี้มี E-donation เป็นการอำนวยความสะดวกในการทำทาน

Q5: บูชาพระพุทธรูปด้วยดอกไม้ธูปเทียน

A: การบูชา เป็นการกระทำเพื่อทำจิตของเราให้มีความละเอียด เป็นการสละออก

– รูปแบบการบูชา ได้แก่

1) อามิสบูชา = บูชาด้วยสิ่งของ เช่น ดอกไม้ ของหอม แสงสว่าง ยานพาหนะ ที่ดิน

2) ปฏิบัติบูชา = บูชาพระพุทธเจ้าด้วยการปฏิบัติ คือ รักษาศีล เจริญภาวนา เป็นวิธีบูชาที่พระพุทธเจ้าทรงสนับสนุน

Q6: กรรมเก่า กับ การมีคู่

A: พระพุทธเจ้าเห็นว่า “การประพฤติพรหมจรรย์” มีประโยชน์มากกว่าการมีคู่ เพราะไม่ใช่แค่ให้ประโยชน์ในปัจจุบัน แต่ยังให้ประโยชน์ต่อไปข้างหน้าชาติหน้าภพหน้า ส่วนการหาความสุขทางกาม ให้ประโยชน์สั้นๆ แค่ชาตินี้ภพนี้ โทษมีมาก

– หากจะมีคู่ ก็ต้องมี “ศีล ศรัทธา จาคะ ปัญญา” เสมอกัน จึงได้เจอกัน พบกัน รักกัน และเป็นคุณธรรมที่จะทำให้อยู่ด้วยกันได้ รักษาตนได้ และต้องใช้หลักธรรม “ทิศ 6” ประกอบด้วย อีกทั้ง ต้องดำเนินชีวิตไปในทางมรรค 8 เพื่อไม่เป็นการผูกปมกันไปเรื่อย ๆ

– การอยู่คนเดียว (คนโสด) เช่น พระสงฆ์ ก็สามารถหาความสุขที่เหนือจากกาม (ตา หู จมูก ลิ้น กาย) ได้


Tstamp

[02:50] บุญจากการนั่งสมาธิ
[10:50] บุญจากการให้ทาน VS บุญจากการนั่งสมาธิ
[19:40] ทำบุญโดยการปล่อยสัตว์น้ำ
[30:50] E-donation
[33:40] บูชาพระพุทธรูปด้วยดอกไม้ธูปเทียน
[42:35] กรรมเก่า กับ การมีคู่