Q1: วันมาฆบูชา พุทธศาสนิกชนควรปฏิบัติตนอย่างไร

A: วันมาฆบูชา เป็นวันแห่งความรักของพระพุทธศาสนา เป็นความรักที่เป็นไปด้วยความเมตตาชนิดที่ไม่มีเงื่อนไข คือ ความรักที่บริสุทธิ์ ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ คือ 1. ไม่มีเงื่อนไข 2. ไม่มีประมาณ ไม่กลัวหมด 3. ไม่เว้นใครไว้ หากเรารักคนอื่นด้วย 3 องค์ประกอบนี้ ไม่มองเห็นใครเป็นศัตรู มองทุกคนด้วยจิตใจที่เป็นมิตร ด้วยจิตใจที่มีความรักความเมตตาแบบนี้ เป็นสิ่งที่ควรเอามาปฏิบัติ ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ก็จะทำให้มีจิตใจแบบพรหม อยู่เป็นสุขได้

Q2: วิธีรับมือกับคนเจ้าอารมณ์

A: การเงียบ ไม่ต่อคำด้วย อาจจะไม่จบเดี๋ยวนั้น แต่ในอนาคตก็จะจบ ค่อย ๆ ใช้เวลาระงับลง การพูดสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ก็ไม่พูด ให้พูดสิ่งที่เป็นประโยชน์ ในเวลาที่เหมาะสม และให้แผ่เมตตาให้บุคคลนั้นผ่านไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลาย เขาจะรับกระแสความรักความเมตตาจากเรา อารมณ์ร้อน โทสะของเขาก็จะเบาบางลง

วิธีแผ่เมตตา 1. ทำจิตให้เป็นสมาธิ-ตั้งสติขึ้นโดยใช้พุทโธหรือกำหนดลมหายใจ พอเกิดสติแล้ว จิตจะค่อยระงับลง เป็นสมาธิ สมาธิที่เกิดขึ้นจะเป็นกำลังในการส่งกระแสความเมตตาออกไป

2. ตั้งจิตไว้ด้วยกับเมตตา-นึกถึงความรักของมารดาที่มีเมตตาต่อลูกชนิดที่ไม่มีประมาณ

3. ส่งกระแสความเมตตาออกไปให้บุคคลนั้นผ่านไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลาย-โดยเอาบุคคลนั้นตั้งเป็นอารมณ์ ความขัดข้องในใจของเราก็จะลดลงหรือหมดไปด้วยความเมตตา

4. แผ่เมตตาซ้ำไปเรื่อย ๆ จิตใจเราก็จะไม่มีความขัดเคืองใจ ไม่มีความอิจฉาริษยา จะมีแต่ความเมตตากรุณาให้ไป

Q3: ธรรมะสำหรับคนที่มีอาการนอนไม่หลับ

A: แบบที่ 1 เป็นโรคนอนไม่หลับ (Insomnia) แบบที่ 2 เป็นคนที่มีจิตเป็นสมาธิตื่นอยู่ตลอดคืน (ตื่นด้วยสติสมาธิ) แบบที่ 2 เมื่อตื่นแล้วจะไม่รู้สึกอ่อนเพลีย ร่างกายได้พักผ่อนอยู่ในสมาธิ แบบที่ 1 นอกจากการรักษาทางการแพทย์และการปรับพฤติกรรมแล้ว ทางด้านจิตใจ พระพุทธเจ้าให้มีสติสัมปชัญญะน้อมไปในการนอน คือ ให้เราตั้งสติไว้ก่อน ไม่ให้จิตเพลินไปตามความคิด ฟุ้งซ่าน ให้ใช้พุทโธตั้งสติขึ้น เมื่อสติมีกำลังตั้งขึ้นได้แล้ว ให้น้อมจิตไปที่การนอน โดยให้ตั้งจิตว่า “ฉันกำลังจะนอน บาปอกุศลทั้งหลายอย่าตามเราผู้นอนอยู่ไป” แล้วน้อมจิตไปเพื่อการนอน

Q4: ทำไมบางคนถึงมีสติสมาธิในทางทำงานมาก

A: คนเราจะเก่งเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ ต้องมีสติสมาธิอย่างแน่นอน ขึ้นอยู่กับว่านำไปใช้ในทางไหน ถ้าเอาสติ สมาธิ ปัญญา นำไปใช้ในทางที่ทำให้กิเลสเพิ่มขึ้น จะเป็น “มิจฉา” แต่ถ้านำไปใช้ในทางที่ทำให้กิเลสลดลง อันนี้เป็น “สัมมา” มรรค 8 (ศีล สมาธิ ปัญญา) เอาไปปรับใช้ได้ทุกเรื่อง ทั้งการเล่นกีฬา การเรียน การทำงาน โดยต้องฝึกให้จิตของเรามีความเคยชินในเรื่องนั้น ๆ ด้วย

Q5: เหตุใดประเทศไทยซึ่งเป็นเมืองพุทธ จึงยังมีปัญหาความรุ่มร้อน

A: ประเทศอินเดีย ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ก็ยังมีปัญหา มีความไม่ราบรื่น เพราะโลกมันเป็นอย่างนี้ สุข ทุกข์ พอ ๆ กัน ไม่ใช่ว่าจะเป็นที่ ที่มีแต่สุขอย่างเดียว ดังนั้น เราจะคาดหวังว่าเมื่อศึกษาธรรมะแล้ว ทุกอย่างจะราบรื่น อันนี้ไปตามความอยาก (ตัณหา) แล้ว ย่อมมีปัญหาตามมาแน่นอน หากเรามีเงื่อนไขแห่งความสุขมาก ความทุกข์ก็จะมาก เพราะความจริงมันไม่เป็นไปตามเงื่อนไข แต่ถ้าเรามีเงื่อนไขแห่งความสุขน้อย ก็จะมีความสุขมาก เพราะมีความอยากน้อย ดังนั้น เงื่อนไขแห่งความสุขจึงเป็นสิ่งสำคัญ สิ่งที่เราควรทำ คือ ให้เราปฏิบัติตามศีล สมาธิ ปัญญา นั่นเป็นเครื่องรักษาจิตของเราให้มีความผาสุกได้ แม้เผชิญกับความเจ็บป่วย ความชรา ข้าวยากหมากแพง เกิดสงคราม เราก็จะยังเป็นผู้ที่อยู่ผาสุกได้


Timeline

[01:40] วันมาฆบูชา
[09:40] วิธีรับมือกับคนเจ้าอารมณ์
[21:35] วิธีแผ่เมตตา
[26:18] อาการนอนไม่หลับ
[35:01] สติสมาธิในการทำงาน
[45:25] เหตุใดเมืองพุทธ ยังมีปัญหา